มนสิการมี ๓


    ท่านอาจารย์ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีแรกรู้เสียงที่กระทบแล้วดับไป ต่อจากนั้นวิถีจิตอื่นๆ จึงเกิดต่อได้ ด้วยเหตุนี้ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ แล้วสำหรับโวฏฐัพพนะอีกชื่อหนึ่ง ก็คือชวนปฏิปาทกมนสิการ ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้

    นี่โดยปกติทั่วๆ ไป อาจารย์จะแปลความหมายของคำไหมคะ

    อ.สมพร ปฏิปาทกะ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ วิถีปฏิปาทกะกับชวนปฏิปาทกะ

    อ.สมพร วิถีปฏิปาทกะ แปลว่า เป็นทางก็ได้ แต่ว่าในอรรถกถาจารย์ท่านใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่า เป็นเบื้องต้นของกุศลหรืออกุศล ที่ใช้คำว่า ปฏิปาทกะ ท่านใช้แปลว่าเป็นเบื้องต้น ปฏิ ก็แปลว่าเฉพาะ

    ท่านอาจารย์ ปฏิ ก็แปลว่าเฉพาะ ปาทกะล่ะคะ

    อ.สมพร เป็นทาง เป็นบาท

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เป็นทางหรือเป็นบาทโดยเฉพาะ มนสิการ คงจะทราบว่าเป็นเจตสิก ๑ ใน ๗ ที่เป็นสัพพจิตสาธารณะ อันนี้ทุกคนทราบว่า เป็นชื่อของเจตสิกประเภทหนึ่ง ได้แก่ สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละชนิด หรือจิตก็ตามแต่ ก็จะต้องมีกิจการงานของจิตนั้นเฉพาะตนๆ อย่างผัสสเจตสิกก็ทำกิจกระทบ เวทนาเจตสิกก็เป็นสภาพที่รู้สึกสุข ทุกข์ในอารมณ์

    สำหรับมนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เพระว่าบางคนสนใจในบางอย่าง แต่ว่าไม่สนใจในบางอย่าง พูดเรื่องการเมือง อาจจะสนใจ ถ้าพูดเรื่องการบ้านอาจจะไม่สนใจ แต่สำหรับมนสิการเจตสิกเป็นเจตสิกซึ่งต้องทำกิจใส่ใจในอารมณ์ ไม่ใช่กระทบอารมณ์ แต่คำว่ามนสิการนั้นไม่ใช่หมายความแต่มนสิการเจตสิกเท่านั้น มี มนสิการ ๓ อย่าง คือ วิถีปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก เพราะเหตุว่าถ้าเสียงกระทบกับหู แล้วก็เป็นภวังคจิต วิถีจิต คือ จิตได้ยินจะเกิดไม่ได้ สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ อะไรก็เกิดไม่ได้ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดเสียงกระทบหู ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด เป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการดับไป วิถีต่อๆ ไปจึงจะเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การใส่ใจรู้อารมณ์ที่กระทบ เป็นลักษณะของปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร นี่คือวิถีปฏิปาทกมนสิการะ

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “วิถีปฏิปาทกมนสิการ” ให้ทราบว่าไม่ใช่เจตสิก แต่หมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต คือ ให้ทราบความกว้างขวางของการที่จะใช้คำ อย่างมนสิการโดยทั่วไปเข้าใจว่า เป็นเจตสิก แต่ว่ามีมนสิการ ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นเจตสิก อีก ๒ อย่างไม่ใช่เจตสิก อีก ๒ อย่างเป็นจิต ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ และมโนทวาราวัชชนะซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือจะทำอาวัชชนะจิตทางมโนทวารก็ตามแต่ เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตดวงนี้ดับไปแล้ว ชวนจิตต้องเกิด คือ จะไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเป็นวิถีที่เป็นชวนะ หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตหรือโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้นโวฏฐัพพนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจนั่นเอง เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ ส่วนเจตสิกนั้นก็เป็นอารัมมนปฏิปาทกมนสิการ


    หมายเลข 8910
    22 ส.ค. 2567