เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต


    ผู้ฟัง ทีนี้พอมาถึงเรื่องโวฏฐัพพนจิตนี้ จะมีเจตสิกร่วมด้วยไหม ๑๐ ดวง หรือว่ามีน้อยกว่า

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเป็นการดีที่เราจะพูดถึงเจตสิกไปในตัวบ้าง เพื่อที่จะได้เหตุผล เพราะเหตุว่าสำหรับจิตที่ทำกิจ เราจะเห็นว่า ทำไมบางจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก แล้วทำไมบางจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อย มีเหตุผลอะไร เพราะว่าธรรมทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย

    สำหรับสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงต้องเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว ก็จะมีอีกชื่อหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะคุ้นหูหรือว่าจะลืมไปแล้วคือ ปกิณกเจตสิก ๖ ดวง ทั้งหมดเจตสิกจะแบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ เป็นอัญญสมานาเจตสิก ๑ พวก แล้วเป็นอกุศลเจตสิก ๑ พวก แล้วก็เป็นโสภณเจตสิกอีก ๑ พวก ชื่อก็บอกว่า อัญญสมานาเจตสิก เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คงจะเข้าใจความหมายได้ว่า เจตสิกเหล่านี้เสมอกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย คือถ้าเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลไปด้วย ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับวิบากก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยาก็เป็นกิริยา มีทั้งหมด ๑๓ ดวง ที่เข้ากันได้กับจิตทุกประเภทหมด

    เพราะฉะนั้นอย่างจิตที่เราเห็นว่าทำไมถึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง อย่างจักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็นเดี๋ยวนี้ โสตวิญญาณที่ทำกิจได้ยิน แล้วก็ฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส แล้วก็กายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะเห็นได้ว่าจิตเหล่านี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิด แต่ว่าต้องมีอารมณ์กระทบจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีวิริยะมาทำให้จิตไปรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าเมื่อรูปกระทบกับทวาร แล้วก็วิถีจิตเกิดขณะนั้นอารมณ์นั้นเองเป็นปัจจัยที่พอให้จิตนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือว่าทวิปัญจวิญญาณ แต่จะเห็นได้ว่า แม้ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ยังมีเจตสิกเกิดมากกว่าทวิปัญจวิญญาณจิต เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ชั่วพริบตาที่เล็กสั้นที่สุดยิ่งกว่าพริบตาอีก คือ ขณะนั้นเป็นจิตที่ทำกิจเห็น เพียงเห็น เห็นอย่างเดียว เห็นเท่านั้นเพราะว่าเพียงได้ยิน จะเป็นกุศลไม่ได้ จะทำบุญทำบาปอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงว่าเป็นจิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ทำให้มีปสาท แล้วทำให้รูปนั้นกระทบ แล้วก็ก็ทำให้จิตนี้กระทบรู้อารมณ์นั้น เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็จะต้องอาศัยปกิณกเจตสิกเพิ่มขึ้น ปกิณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง ก็ไม่อยากจะทบทวนมาก แต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นประโยชน์ แล้วก็มีเหตุผล อย่างวิตกเจตสิกเป็นเจตสิกที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ วิจารเจตสิกก็เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิตกเจตสิกเสมอ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าวิตกจะตรึกถึงอะไร วิจารก็ประคองตาม รู้อารมณ์นั้นคู่กันไป แล้วก็มีอธิโมกขเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปักใจในอารมณ์นั้น

    นี่แสดงให้เห็นว่าการที่จิตรู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ ต้องอาศัยเจตสิกหลายประเภทแล้วก็ทำกิจแยกกันไป คนละนิดคนละหน่อย แม้แต่ผัสสะก็เพียงกระทบ แม้แต่เวทนาก็เพียงรู้สึก แต่พอมาถึงปกิณณกเจตสิก ก็ต้องมีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก ปีติเจตสิกต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้เรื่องจิต หรือรู้ชื่อจิตหนึ่งจิตใด ต้องรู้เวทนาที่เกิดกับจิตนั้นด้วย จึงจะเป็นการสมบูรณ์ เช่น ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ก็ต้องรู้ว่า เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอะไร โทสมูลจิต เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอะไร ต้องเป็นโทมนัสเวทนาอย่างเดียว โลภมูลจิตมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นโสมนัสก็ได้ เป็นอุเบกขาก็ได้ กุศลจิตมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นอุเบกขาก็ได้ เป็นโสมนัสก็ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องรู้เวทนาซึ่งเกิดกับจิตนั้นด้วย อย่างปัญจทวาราวัชชนจิต จะเป็นโสมนัสเวทนาไม่ได้ เป็นกิริยาจิต แล้วก็เป็นจิตที่เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ ยังไม่ได้มีการเห็น ยังไม่ได้มีการได้ยินเลย เพราะฉะนั้นก็มีวิตกจตสิก วิจารเจตสิก มีอธิโมกขเจตสิก ปกิณณกเจตสิกทั้งหมดมี ๖ ดวง นี่ ๓ ดวงแล้วที่ต้องเกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต รวมเป็น ๑๐ ดวง แต่เมื่อไม่เป็นโสมนัส ก็ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็ไม่ต้องอาศัยวิริยะด้วย เพราะเหตุว่าเป็นอเหตุกจิต อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวงที่มีวิริยะเกิดร่วมด้วยเพียง ๒ ดวงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ หสิตุปปาท และมโนทวาราวัชชนะ ถ้าเรียนต่อไปจะทราบได้ว่าเพราะเหตุใด จิต ๒ ดวงนี้จึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากนั้นแล้วไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วยเลย ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ไม่มี สัมปฏิฉันนะก็ไม่มี แม้แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มี สันตีรณะ แล้วก็เมื่อไม่มีโสมนัสสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มีฉันทะด้วย เพราะเหตุว่าอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดจะไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นจิตที่ต้องเกิด และเกิดเป็นประจำ เพราะเหตุว่าเป็นวิบากจิตที่ต้องเกิดทำหน้าที่เห็น ทำหน้าที่ได้ยิน แต่เวลาที่เป็นกุศลหรืออกุศลพวกนี้ จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเพราะอะไร โวฏฐัพพนจิตหรือปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ไม่มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง สำหรับโวฏฐัพพนจิตก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๑๐

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าปกิณณกเจตสิกมี ๖ มีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก มีอธิโมกขเจตสิก เพิ่มอีก ๓ ดวงเป็น ๑๐ ดวง ที่พิเศษก็คือว่าปีติไม่เกิด เพราะต้องเกิดกับโสมนัส วิริยะไม่เกิดเพราะต้องกระทำกิจมากกว่านี้ จึงจะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉันทะไม่เกิด เพราะเหตุว่าฉันทะนั้นเลือกได้ บางคนก็พอใจที่จะโกรธ บางคนก็พอใจที่จะไม่โกรธ เพราะฉะนั้นสำหรับอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลือกไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ของอเหตุกจิตจะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และอเหตุกจิตทั้งหมดไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๓ ดวงสุดท้ายนี้ก็ตัดออกไป แล้วก็พิจารณาดูว่า ขณะใดเวทนาเป็นโสมนัส ขณะนั้นก็จะมีปีติเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แต่โวฏฐัพพนะเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นวิบาก เป็นอเหตุกจิต เรื่องเท่ากันนี้หมายความว่า เมื่อไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงแล้ว ต้องอาศัยเจตสิกอื่นด้วย เฉพาะจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเท่านั้นจริงๆ ที่มีเจตสิกเพียง ๗ แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ยังจะต้องมีวิตกที่จะตรึกถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร เพราะเหตุว่า เป็นวิถีจิตแรก


    หมายเลข 8912
    22 ส.ค. 2567