เพราะจิตอื่นไม่สามารถ


    ผู้ฟัง ดิฉันใคร่จะขอเรียนสรุปทบทวนอย่างสั้นๆ เกี่ยวกับการสะสมสันดานของจิต ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี คือ เป็นการสืบต่อสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงามซึ่งเป็นอกุศล หรือเป็นสภาพธรรมที่ดีงามซึ่งเป็นกุศลก็ตาม ซึ่งสภาพธรรมที่ดีงาม หรือสภาพธรรมที่ไม่ดีงามก็เกิดขึ้นพร้อมกับชวนวิถีจิต ซึ่งทำกิจหรือทำหน้าที่เสพ หรือเสวยอารมณ์ ชวนวิถีจิตนี้ก็เกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ แล้วก็ทำการสะสมหรือสั่งสมสันดานในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ๗ ขณะ สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับชวนวิถีจิตนั้น ก็สะสมสืบต่อถ่ายทอดจากชวนจิตดวงที่เกิดก่อนแล้วดับไป สู่ชวนจิตดวงที่เกิดต่อ คือ ดวงที่เกิดที่หลังที่เกิดต่อ เป็นอย่างนี้ ๗ ขณะ แต่ว่าชวนจิตดวงที่ ๗ จะไม่ส่งให้จิตที่เกิดต่อ เพราะเหตุว่าสิ้นสุดที่ชวนดวงที่ ๗ จิตดวงที่เกิดขึ้นก่อนแล้วดับไป ก็จะถ่ายทอดหรือสืบต่อสิ่งสะสมให้กับชวนจิตดวงที่เกิดทีหลัง

    อันนี้ก็เป็นการสรุปโดยย่อๆ และสั้นที่สุด เกี่ยวกับการสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ไม่ทราบว่าข้อสรุปนี้จะมีอะไรที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ก็อยากจะขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยแนะนำเพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ รายการนี้ก็เป็นรายการทบทวน เพราะว่าผู้ฟังจะได้ไม่ต้องท่อง และในขณะเดียวกันก็มีความเข้าใจลักษณะสภาพของจิตใจของตนเองจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงเรื่องของจิต เรามักจะไม่ค่อยพิจารณาสภาพจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงความละเอียดของจิต เพื่อที่จะให้เราหันกลับมารู้จักสภาพที่แท้จริงซึ่งเป็นจิตใจของเรา โดยให้ระลึกรู้ลักษณะของจิต

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าเพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของจิตก็เป็นเรื่องที่เหมือนเรียนเรื่องชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ล้วนเป็นสภาพของจิตที่เรากำลังกล่าวถึงว่า มีจิตหลายประเภท.แล้วก็จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว จิตเกิดแล้วก็ทำหน้าที่เฉพาะของตน แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทไหน แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงตั้งแต่เริ่ม ตอนเกิดก็ผ่านไปแล้วจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินว่า ก่อนที่จะเห็น ก่อนที่จะได้ยิน จะต้องมีจิตอะไรเกิดก่อน ที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ภวังคจิต แล้วเมื่อมีอารมณ์มากระทบ วิถีจิตก็เริ่มเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้อารมณ์นั้น แล้วเมื่อวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นสืบต่อกันดับไปหมด ก็เป็นภวังคจิตอีก

    เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตในขณะนี้เอง ซึ่งพร้อมที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วสำหรับเรื่องของวิถีจิตก็มีไม่มากเลย เพราะเหตุว่าก็มีวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพียง ๖ ทางเท่านั้น แล้วก็เกิดซ้ำพอที่จะให้เห็นแล้วเข้าใจความจริงได้ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเป็นอนัตตา ให้เห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เมื่อเป็นอนัตตา ก็จะต้องเป็นธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อ ทำกิจการงานสืบต่อกันด้วย ทางตาก็จะต้องเริ่มตั้งแต่อตีตภวังค์ คือ เมื่ออารมณ์กระทบภวังค์ ยังไม่เห็น และก็ยังไม่ใช่วิถีจิต แล้วก็เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ภวังคจิตขณะต่อไปก็ยังไม่ใช่วิถีจิต แต่ว่าไหวตามอารมณ์ที่กระทบ ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคจลนะ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์เกิดอีก ๑ ขณะ สิ้นสุดกระแสของภวังค์ เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นภวังค์ๆ อยู่ จะให้รู้อารมณ์ทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีอตีตภวังค์ ซึ่งถูกอารมณ์กระทบดับไป ภวังคจลนะไหวตามอารมณ์นั้นดับไป ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายดับไป ต่อจากนั้นจิตจึงจะเริ่มรู้อารมณ์ใหม่ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จิตซึ่งไม่รู้อารมณ์ของภวังค์เป็นวิถีจิตทั้งหมด

    คุณอดิศักดิ์ ผมอยากจะพูดเรื่องพยัญชนะ ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเราทั่วๆ ไปก็คือ จิตเราจะสั่งสมสันดานของตนก็ในขณะที่เป็นชวนะ อันนี้ถูกไหม อาจารย์

    อ.สมพร เพราะว่าบุญ และบาปเกิดที่ชวนะ เมื่อบุญเกิดขึ้นเราก็สั่งสมเอาไว้ หรือความดีที่ปรากฏก็คือกุศลเกิดที่ชวนะ ความชั่วก็เช่นเดียวกัน เมื่อความดีปรากฏที่ชวนะ ความชั่วปรากฏที่ชวนะ ท่านจึงกล่าวว่า สั่งสมด้วยชวนะนั่นเอง เป็นเครื่องสั่งสมสืบต่อ

    คุณอดิศักดิ์ ก็คือไม่มีภาษาท้องถิ่นที่ดีกว่านี้

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะได้เหมือนกัน ถ้าสงเคราะห์กันว่า เพราะว่าจิตอื่นไม่สามารถ เฉพาะชวนวิถีจิตซึ่งเป็นกุศล และอกุศลเท่านั้น

    คุณอดิศักดิ์ อย่างคนที่อ่านมาแล้วมากมายก็คงไม่สงสัยอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตอื่นก็เป็นวิบากจิต จะสั่งสมก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิบากจิต เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพราะกรรม มีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดขึ้นรับผลก็เกิดขึ้นรับผล เมื่อรับผลคือเป็นวิบากจิตแล้วก็ดับ ไม่สามารถที่จะทำอะไรต่อไปได้

    ผู้ฟัง จิตเกิดขึ้น ๗ ขณะในชวนวิถี แล้วสั่งสมสันดาน ทีนี้คนใกล้ตาย จิตเกิด ๕ ขณะ ชวนจิตจะเกิด ๕ ขณะ แล้วทีนี้ ๕ ขณะ เขาจะสั่งสมอะไร ในเมื่อเขาก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว จะสั่งสมอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วถ้าพูดถึงชวนวิถี หมายความถึงขณะที่จิตเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จึงทำชวนวิถี คือต้องทราบเรื่องชาติของจิตก่อน ว่าจิตมีกี่ชาติ แล้วต่อไปก็ทราบว่า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจ ซึ่งจะต้องทำกิจ จิตซึ่งเกิดขึ้นไม่ทำกิจการงานไม่มีเลย เพราะฉะนั้นแม้แต่อกุศลจิตก็ทำกิจ กุศลจิตก็ทำกิจ วิบากจิตก็ทำกิจ กิริยาจิตก็ทำกิจ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า จิตไหนทำกิจอะไร กุศลจิต และอกุศลจิตทำชวนกิจ ถ้าเป็นภาษาไทยก็แปลว่า แล่นไปโดยเร็ว หมายความว่า ไม่ต้องมาทำกิจสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ อะไรอีกแล้ว ถึงเวลาที่จะเป็นกุศล และอกุศลก็เกิดขึ้น ชอบ ไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต หรือเป็นกุศลจิตก็ได้ เวลานี้ที่กำลังเห็นเป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้ เวลาที่ได้ยินก็เหมือนกัน เป็นกุศลจิตก็ได้ เป็นอกุศลจิตก็ได้

    เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นกุศลอกุศลนั้น จิตทำชวนกิจไม่ใช่ทำทัสสนะ สวนะ หรือว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนกิจเลย แต่ทำชวนกิจ คือ แล่นไปด้วยความเป็นกุศลหรืออกุศลในอารมณ์ที่ปรากฏ เมื่อเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลแล้วก็สั่งสมสันดาน ไม่ว่าจะเป็นกี่ขณะก็ตาม


    หมายเลข 8913
    22 ส.ค. 2567