สั่่งสมอัธยาศัยแต่ไม่ใช่เพื่อวิบาก


    อ.นิภัทร ผมติดใจอยู่เกี่ยวกับจิตที่สั่งสมสันดาน ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตของพระอรหันต์ กุศลจิต อกุศลจิตสั่งสมสันดานนี้ก็พอจะเข้าใจได้ แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์นี้ พระอรหันต์ท่านละบุญละบาปได้แล้ว กิริยาจิตของท่านจะสั่งสมอะไร

    อ.สมพร ตอนนี้ท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าอรหัตตมรรค อรหัตตผลไม่มีการสั่งสม แต่ว่าก่อนนั้น ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์ก็เคยสะสมเอาไว้ แต่พอเป็นพระอรหันต์แล้ว นิสัยอย่างนั้นยังติดอยู่ ก็เหมือนพระเถระองค์หนึ่งซึ่งเคยเกิดเป็นพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติ ยังเป็นปุถุชนอยู่ มักจะกล่าวคำว่า ไอ้ถ่อยๆ แต่พอท่านมาเป็นพระอรหันต์แล้วความสั่งสมซึ่งยังเคยเป็นก็มาปรากฏอยู่ แม้ท่านมีแต่กิริยาจิต อกุศลท่านก็ไม่มี กุศลท่านก็ไม่มี การสั่งสมที่เก็บไว้ยังมีอยู่ ท่านก็มักจะพูดว่าไอ้ถ่อย เห็นใครก็ไอ้ถ่อย แต่จิตของท่านไม่ได้เป็นไปที่คำพูด นี่เป็นการสั่งสมส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ลึกซึ้งอาจจะมีอีกก็ได้

    อ.นิภัทร ที่จะเป็นการสั่งสม เพื่อจะให้ผล เป็นวิบากในชาติต่อไปก็ไม่มีแล้ว

    อ.สมพร ไม่มีแล้ว

    อ.นิภัทร แล้วลักษณะของมหากิริยาที่ว่าสั่งสมสันดานของตนนั้น สั่งสมอะไร

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ท่านคิดเหมือนกันหมดหรือเปล่า

    อ.นิภัทร ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนนะคะ แล้วในพระสูตรหนึ่งคงจำได้ ที่ว่าพระเถระทั้งหลายท่านจงกรมกันเป็นกลุ่มๆ อย่างผู้ที่มีปัญญา ก็จงกรมกับท่านพระสารีบุตร แล้วก็ผู้ที่สามารถในทางฤทธิ์ก็เดินจงกรมกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านที่สรรเสริญธุดงค์ก็เดินจงกรมกับท่านพระมหากัสสัปปะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าเป็นพระอรหันต์ ชวนจิตที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน แล้วก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา มิฉะนั้นท่านก็ต้องเหมือนกันหมด

    อ.นิภัทร ก็คงจะเป็นเกี่ยวกับอัธยาศัยที่สะสมมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความคิดของเราครั้งหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดอย่างนี้อีก อย่างบางคนที่ชอบเรื่องทาน เวลาที่เกิดกุศลจิตเป็นไปในเรื่องทานประเภทใด ก็มักจะคิดที่จะทำทานอย่างนั้น อย่างท่านผู้หนึ่งท่านก็ทอดกฐินเป็นประจำ ท่านก็คิดเรื่องกฐินทุกปี แต่คนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องกฐินก็จะสนใจในเรื่องของการช่วยเหลือเด็กที่ขาดอาหาร หรือว่าโรงพยาบาลต่างๆ เขาจะคิดเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นชวนะแต่ละวิถีหรือวาระๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นก็สะสมจริงๆ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดคิดเป็นไปต่างๆ แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็คิดไม่เหมือนกันในวันหนึ่งๆ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านมหากัสสัปปะท่านก็ต่างคนต่างคิด ตามชวนะที่ท่านได้สะสมมา ทุกครั้งที่ชวนจิตเกิดขึ้นก็จะเป็นปัจจัยให้สะสม แล้วก็คิดไปตามการสะสมนั้นๆ

    คุณอดิศักดิ์ จากคำถามของคุณนิภัทรต่อเนื่องมา ไอ้เรื่องนี้ก็เคยสงสัยว่า พระอรหันต์ท่านมีมหากิริยาจิตเท่านั้น จะสั่งสมต่อไปหรือ ซึ่งความจริงไม่ได้สั่งสมต่อไป แต่ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ก็ชัดเจนว่า ในขณะที่ชวนจิตของพระอรหันต์เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นความคิดของพระอรหันต์ก็ยังมีอยู่ก็คิดไปต่างๆ นาๆ จากอดีตของท่านแต่ละบุคคลซึ่งสั่งสมมาในทางต่างๆ เช่น ผู้มีฤทธิ์ก็ดี หรือธุดงค์ก็ดี เหล่านี้เป็นต้น ก็แสดงว่า ต้องเอาของอดีตมาเกี่ยวข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาเป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิเลสแล้ว แต่ทำไมท่านยังต่างกัน กว่าจะปรินิพพานก็ต่างกันไป พฤติกรรมของแต่ละท่านก็ต่างกัน อย่างบางท่านก็สันโดษ ไปอยู่ในป่า ไม่มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย ซึ่งก็ต่างกับท่านพระอานนท์ ตอนนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็จริง

    คุณอดิศักดิ์ แต่ในขณะที่เป็นมหากิริยาของท่าน เมื่อชวนะของท่านเกิดขึ้นก็หมายความว่า ความคิด ความคิดนั้นคือต้องอาศัยอดีตมาบวกกันด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยน หมายความว่าแต่ละวาระที่เกิดก็สั่งสมๆ ไป แต่ว่าไม่ใช่สั่งสมเพื่อที่จะให้เกิดวิบาก เหมือนอย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    คุณอดิศักดิ์ ไม่ได้สั่งสมเพื่อที่จะให้เกิดวิบาก ขอบคุณครับ


    หมายเลข 8916
    22 ส.ค. 2567