ความหมายของอาเสวนปัจจัย
ผู้ฟัง ดิฉันใคร่ขอให้ท่านอาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายของคำว่า อาเสวนปัจจัย ในลำดับแรกขอความหมายก่อน ขอเรียนเชิญอาจารย์สมพร
อ.สมพร อเสวนะ แปลตามตัวก็แปลว่า เสพ คือ ซ้ำไปอีกที อย่างชวนะดวงที่ ๑ ยังไม่ได้อาเสวนปัจจัย เพราะเกิดดวงแรก พอเกิดอีกครั้ง ครั้งที่ ๒ ก็เสพ มันซ้ำลงไปอีกที๑ จนกระทั่ง ๗ ครั้ง อเสวน คือการเสพซ้ำๆ นั่นเอง
ผู้ฟัง อเสวนก็คือการเสพอารมณ์ ใช่ไหม
อ.สมพร เสพซ้ำไปอีก
ผู้ฟัง ธรรมที่ทำหน้าทีอาเสวนปัจจัยคือธรรมที่ช่วยอุปการะโดยการเสพอารมณ์บ่อยๆ ก็ได้แก่ชวนวิถีจิต ซึ่งเราก็ได้พูดถึงชวนวิถีจิตไปแล้ว หมายถึงว่าชวนจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นเป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนจิตดวงที่ ๒ ชวนจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นเป็นอาเสวนปัจจัยให้ชวนจิตดวงที่ ๓ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนถึงชวนจิตดวงที่ ๗ ก็จะไม่เป็นอาเสวนปัจจัยให้กับจิตที่เกิดต่อจากชวนจิตดวงที่ ๗ คืออยากจะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า ทำไมชวนจิตดวงที่ ๗ จึงไม่เป็นอาเสวนปัจจัย
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเข้าใจสืบเนื่องต่อกันหรือยัง ที่เรากำลังพูดถึงเรื่องวาระหนึ่งๆ ของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีชวนวิถี คือ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากปัญจทวาราวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฆฐัพพนจิตแล้วก็ ต้องเป็นชวนจิต
คำนี้บางคนงง มาอีกแล้ว ไม่เคยได้ยิน ชวนจิต ได้ยินแต่โลภมูลจิต โทสมูลจิต แต่ให้ทราบว่า ชวนจิตก็คือกุศลจิต และอกุศลจิตนั่นเอง โดยชาติ แต่ว่าทำกิจชวนะ เพราะว่าทำกิจแล่นไปในอารมณ์ พูดอย่างคำแปล แต่หมายความว่า พอเห็นแล้ว รู้แล้ว ก็เกิดความชอบ ไม่ชอบในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่รู้ที่นี่ไม่ได้หมายความว่ารู้เรื่อง เพียงแต่ว่าไม่ต้องมีการรับ หรือการพิจารณา หรือการที่จะต้องเป็นโวฏฐัพพนจิตอีกแล้ว ทำกิจหมดแล้ว แล้วต่อจากนั้นก็เป็นชวนะ
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าชวนจิตเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยพิเศษ ไม่เหมือนปัจจัยอื่นๆ อย่างปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ อันนี้เป็นโดย อนันตรปัจจัย หมายความว่าจิตซึ่งดับไปจะต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิด แล้วจิตนั้นดับไปก็ต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะอื่นเกิด สืบต่อไป ไม่มีระหว่างคั่น จึงชื่อว่า อนันตรปัจจัย โดยศัพท์อาจารย์ช่วยกรุณาแปลนิดหนึ่ง
อ.สมพร อนันตร แปลว่าไม่มีระหว่างคั่น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหมายความว่าที่กำลังเกิด ไม่มีอะไรที่ว่างไปจากจิตเลย ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่มีจิตหายไปเลย แล้วสืบมาจากแสนโกฏิกัปป์ จิตเกิดขึ้นทำงานติดต่อสืบกันอย่างนี้ เห็นชาติก่อนกับชาตินี้ตามวัย ไม่ห่างกันเลย ก็ต้องเห็นอีก หรือถ้าจะตายขณะนี้ อีกไม่กี่ขณะ ก็มีการเห็นเหมือนกันอย่างนี้อีก
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยสำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกซึ่งเกิด และดับ แต่พอถึงอาเสวนปัจจัย จำกัดเฉพาะชวนวิถีจิต คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้น อันนี้ก็คงจะต้องแยกละเอียดทีหลัง แต่ให้ทราบคร่าวๆ ว่า สำหรับจิตซึ่งเกิดซ้ำติดต่อโดยชาติเดียวกัน ต้องเป็นชาติเดียวกันด้วย ๗ ขณะ ขณะแรก คือ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่ทำชวนกิจ เป็นโลภมูลจิตในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ มีความยินดี มีความพอใจเกิดขึ้นในอารมณ์นั้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นโลภมูลจิตซ้ำอีก ประเภทเดียวกันอีก ในอารมณ์นั้น ต้องเป็นจิตชาติเดียวกัน ประเภทเดียวกันด้วย เมื่อโลภมูลจิตขณะที่ ๒ ดับไป โดยที่มีความพอใจในอารมณ์ที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้น มีความพอใจเหมือนอย่างนั้น คือ เหมือนกับชวนะดวงที่ ๑ ดวงที่ ๒ ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๖ ดวงที่๖ เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นชอบในอารมณ์นั้นอย่างเดียวกัน แล้วก็ดับ แต่ว่าเมื่อจิตต่อจากนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตอีกต่อไป เพราะเหตุว่าโลภมูลจิตจะเกิดเพียง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตขณะที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอาเสวนปัจจัยแล้ว จิตขณะต่อไปต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน แล้วก็เป็นชาติเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน โดยทำกิจชวนะเหมือนกันด้วย อันนี้ก็คงจะเข้าใจความหมายของอาเสวนปัจจัย