รู้สิ่งที่ปรากฎให้รู้ได้


    ผู้ฟัง เราก็เรียนเรื่องสันตีรณะมาแล้วว่ามี ๓ อันนี้ตัวสันตีรณะก็มาทำหน้าที่ตทาลัมพนะอีกหน้าที่หนึ่ง สำหรับมหาวิบาก ๘ ดวงนั้น เราก็คงตามมาทีหลังว่า คืออะไรบ้าง เราคงจะไม่พูดละเอียดในเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงตัวสันตีรณะมาทำหน้าที่ตทาลัมพนะ อันนี้ตอนต้นๆ อาจจะใช้คำนี้กันบ่อยๆ ว่า ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก ดับไปแล้วทำภวังคกิจ คล้ายๆ ว่า เป็นตัวเก่าอะไรอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่า จิตมีมากมายหลายประเภท สุดปัญญาที่ใครจะจำแนกความละเอียดยิบได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงประมวลจิตทั้งหมด แล้วทรงแสดงโดยประเภทต่างๆ โดยกิจ แต่ให้ทราบว่าจิตขณะหนึ่งไม่ใช่มาจากไปเก็บไว้ที่ไหนก่อน แล้วก็มาทำกิจนี้ แต่ละขณะเกิดใหม่ๆ แล้วก็ดับไปเลย แล้วก็เกิดอีกใหม่ๆ แล้วก็ดับไปเลย

    เพราะฉะนั้นแต่ละขณะไม่มีซ้ำเก่า ไม่ใช่อันเก่าเลย แต่เป็นประเภทเดียวกัน เพราะว่าถ้าจะจำแนกให้กว้างกว่านี้อีก ก็ยากที่จะจำได้ มากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็เอาเพียงเท่าที่สมควรที่จะเห็นว่า เมื่อเป็นจิตประเภทเดียวกันนี้แหละ แต่จิตประเภทนี้ทำได้กี่กิจ เช่น จิตนี้ทำปฏิสนธิกิจก็ได้ ทำภวังคกิจก็ได้ ทำตทาลัมพนกิจก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าดวงเก่า หรือว่าดวงนั้นที่เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว กลับมาเกิดอีก แล้วก็มาทำกิจนี้ แต่ให้ทราบว่าขณะที่ทำกิจนี้ คือ จิตประเภทเดียวกัน ชนิดเดียวกันกับจิตที่เป็นจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ และภวังคกิจ เพราะว่าได้แก่มหาวิบากจิต ๘ ดวง

    ผู้ฟัง แล้วทีนี้เรามามองดูอีกที สันตีรณะ มันจะมีอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก มันจะมีอกุศลวิบากอยู่อัน อันนี้มันเป็นกุศลวิบาก จิต ๑๑ ดวงมีกุศลวิบาก ๑๐ ดวงอกุศล ๑ ดวง

    ท่านอาจารย์ อกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ทำไมมันถึงมีกุศลต้อง ๑๐ แล้วก็อกุศลมาปน ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไม อกุศลก็มาทำตทาลัมพนะปนกับกุศลวิบากได้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเท่าไรๆ แต่ให้ทราบว่า จิตที่ทำสันตีรณะกิจ มี ๓ ดวง ทั่วจักรวาล ไม่ว่าจะภพไหนก็ตาม จิตที่ทำสันตีรณะกิจมี ๓ คือ ที่เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณะ ๑ โสมนัสสันตีรณะ ๑ แล้วที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง คืออุเบกขาอกุศลวิบากสันตีรณะ ก็แสดงให้เห็นว่าทางฝ่ายอกุศลมี ๑ แต่ทางฝ่ายกุศลมี ๒ เพราะความประณีตของอารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ที่ดีกับอารมณ์ที่ดียิ่ง

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง คือ อติอิฏฐารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่ทำสันตีรณะเป็นโสมนัส มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับกิจนี้จึงมีโสมนัสสันตีรณะซึ่งทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ และอุเบกขาสันตีรณะก็พิจารณาอารมณ์ที่ดีที่เป็นอิฏฐารมณ์ธรรมดา ตามประเภทของอารมณ์

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำตทาลัมพนกิจ สันตีรณจิตทำได้ทั้ง ๓ ดวงตามประเภทของอารมณ์

    ผู้ฟัง อันนี้ก็หมายความว่า สำหรับตทาลัมพนะมันก็มีกุศลวิบากอกุศลวิบากปนอยู่ด้วย อันนี้ท่านผู้ร่วมสนทนามีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับตทาลัมพนะ มีไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของวิบาก หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ จิตที่รู้อารมณ์เป็นวิบากจิตก็ต้องมีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ มีทั้งที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คือความแปลกของตทาลัมพนะ ของลักษณะของตทาลัมพนะอีกอันหนึ่ง เขามีแปลกอยู่ ๒ อย่าง ซึ่งมันสะดุดใจตัวดิฉันเองก็คือว่า ๒ ขณะ คนอื่นนี้ ๑ๆ ๆ ๆ พอถึงชวนะ ๗ แต่พอมาถึงตทาลัมพนะ แทนที่จะ ๑ เหมือนชาวบ้าน ก็เป็น ๒ เสร็จแล้วมันมีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบากทำหน้าที่ปนอยู่ มีกุศลวิบากถึง ๑๐ ดวงอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสิ่งที่ใครก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในบางแห่งคุณสุรีย์ค้นคว้าอรรถกถาต่อไป จะมีเกจิอาจารย์ที่ท่านวินิจฉัยกันว่า ตทาลัมพนะจะเกิด ๑ ขณะได้ไหม หรือว่าต้องเกิด ๒ ขณะเสมอไป ถึงแม้ในอรรถกถาของท่านพระพุทธโฆษาจารย์เอง เล่มหนึ่งก็อาจจะเป็นตทาลัมพนะ ๑ ขณะ ส่วนอีกเล่มก็เป็นตทาลัมพนะ ๒ ขณะ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่วิสัยที่เราจะพยายามสักเท่าไรจะไปรู้ตทาลัมพนะว่า ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องตั้งแต่สมัยเกจิอาจารย์อื่นๆ ในยุคโน้นที่ท่านพูดกันมาแล้ว เราก็คงไม่ต้องไปวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะว่ามีอยู่แล้วที่ท่านเคยพูดกันมาแล้วก็เคยตั้งเป็นคำถามกันไว้ เมื่อเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เราก็รู้ในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้


    หมายเลข 8921
    22 ส.ค. 2567