กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก
ผู้ฟัง ดิฉันขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า การที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องของวิถีจิต โดยเฉพาะในลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ชื่อว่าจิตเพราะสั่งสมสันดานของตน โดยสามารถแห่งชวนวิถี หรือเราเรียนรู้วิถีจิตทั้งหมด อันนี้ถ้าเผื่อเราได้เรียนรู้อันนั้นแล้ว เราจะเข้าใจสังสารวัฏฏ์ที่เมื่อกี้ ขอย้อนกลับพูดถึงสังสารวัฏฏ์อีกสักนิด ว่าจะเข้าใจยิ่งขึ้นหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าตราบใดที่ยังมีเหตุ ตราบนั้นผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ ไม่หมดสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าก็จะต้องมีกรรม เมื่อมีกรรมก็จะต้องมีวิบาก ถ้าตราบใดยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องมีกรรม
ผู้ฟัง ทีนี้สำหรับประการที่ ๓ ที่ชื่อว่าจิตเพราะเป็นธรรมชาติที่กรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อันนี้พอฟังแล้วก็รู้สึกยังจะไม่เข้าใจชัด เท่ากับข้อ ๒ ที่ว่าสั่งสมสันดาน เรามองเห็นชัดเลยว่า ถ้าเราเกิดอกุศล มันซ้ำกัน ๗ ครั้ง มันสั่งสม แต่คำว่ากรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาให้ความกระจ่าง ให้เรามองเห็นชัดว่า ลักษณะจิตที่ ๓ มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ากิเลสก็ไม่ได้เกิดที่อื่น กิเลสก็เกิดกับจิต แล้วกรรมก็ไม่ได้เกิดที่อื่น กรรมก็เกิดที่จิต แล้วจิตที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้า เพราะว่าเหตุกับผลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ คือ กุศลจิตจะเป็นกุศลวิบากจิตในขณะนั้นด้วยไม่ได้ หรือว่าอกุศลกรรมจะเป็นอกุศลวิบากในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าเมื่อทำกรรมแล้ว อกุศลกรรมดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น
ผู้ฟัง สั่งสมวิบากอย่างไร อาจารย์คะ
ท่านอาจารย์ เกิดดับสืบต่อกันเรื่อยๆ
ผู้ฟัง มันก็เกิดในจิตที่เกิดดับสืบต่อ
ท่านอาจารย์ ทุกขณะ
ผู้ฟัง เหมือนกุศลอกุศลเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ทุกขณะ
ผู้ฟัง วิบากก็ไปด้วยทุกขณะ
ท่านอาจารย์ ยังไม่เกิด แต่มีปัจจัยที่จะให้เกิด
ผู้ฟัง ปัจจัย ตัวนี้ตัวสำคัญ