วิปากปัจจัย - กรรมปัจจัย
ผู้ฟัง ขอเรียนถามตรงวิปากปัจจัย วิปากปัจจัยที่กล่าวว่าจิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันเรียกว่า วิปากปัจจัย จิตเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ขณะที่กำลังเห็นได้ยินก็เรียกว่าสหชาตปัจจัยหรือครับ
ท่านอาจารย์ มีหลายปัจจัย ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า เข้าใจว่าในขณะที่เห็น จิตเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นวิปากปัจจัย คือ ปัจจัยเป็นอุปการะให้เกิดกุศล และอกุศล
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ได้มีกุศลอกุศลเกิดเลย ขณะนั้นเป็นวิบากจิตกับวิบากเจตสิก ไม่มีกุศลอกุศล จิตขณะเดียวเกิดขึ้น
ผู้ฟัง แต่อุปการะให้กุศล และอกุศลเกิด ทำให้เกิดความพอใจไม่พอใจจากการที่เห็น ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสำหรับพระอรหันต์ไม่มีกุศล และอกุศลเลย
ผู้ฟัง จริงครับ
ผู้ฟัง ท่านผู้ร่วมสนทนามีใครจะเพิ่มเติมอะไรไหมคะ
ท่านอาจารย์ ขอความกรุณาอาจารย์ให้ความหมายภาษาบาลี วิปาก ก่อนได้ไหมคะ
อ.สมพร วิปากปัจจัย เราก็แยกออกเป็น ๒ ส่วน วิ ปา กะ หมายถึงวิบาก วิบากนี้ก็หมายถึงผลของกรรม กรรมดีหรือกรรมชั่ว แปลอย่างอื่นก็ได้ สุกงอมก็ได้ คือ เป็นผลของกรรมที่ถึงคราวที่จะให้ผลแล้วก็สุกงอมเปรียบเหมือนผลไม้ สุกงอมจะหล่นแล้ว วิบากเป็นปัจจัย วิปากปัจจัย คือ ปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น จิต เช่น จักขุวิญญาณ จิตเห็น ก็ต้องเป็นวิปากปัจจัย วิบากทั้งหลายของเจตสิกของจิตเกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยให้จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นเรียกว่าจักขุวิญญาณ หรือเหมือนคำว่าเหตุปัจจัย เหตุเป็นปัจจัย ปัจจัยหมายถึงที่อาศัยหรืออุปการะอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุเป็นปัจจัย มุ่งถึงเหตุ ๖ แต่ในที่บางแห่งเหตุกับปัจจัยมีความหมายเหมือนกัน แต่ถ้าในที่นี้ เหตุหมายถึงเหตุ ๖ ปัจจัยหมายถึงปัจจัยทั้ง ๒๔ ประเภท
อ.นิภัทร คือถ้าพูดถึงปัจจัยแล้ว จะต้องพูดถึงผลของปัจจัยด้วย ที่เรียกว่าปัจจยุบัน อย่างในวิปากปัจจัย จิต เจตสิก แล้วจักขุวิญญาณจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตอินทรีย์ มนสิการ เกิดร่วมด้วย ขณะที่วิบากจิตเกิด เรียกว่าวิปากปัจจัย วิปากปัจจัยจะเกิดลอยๆ โดยที่ไม่มีสิ่งอื่นร่วมไม่ได้
เพราะฉะนั้นต้องมีสหชาตธรรมเกิดร่วมด้วย เรียกว่าให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่ถ้าหากพูดถึงจิตเป็นตัวปัจจัยแล้ว สหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยนั้น ไม่เรียกว่าเป็นปัจจัย เรียกว่าเป็นปัจจยุบัน คำนี้ไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจยุบัน แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย พูดง่ายๆ ว่า ผลนั่นเอง ถ้าจะพูดเป็นภาษาไทยว่าผลนั่นเอง ผลของปัจจัย ปัจจยุบันแปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย
ทีนี้ผมก็อยากจะเรียนถามว่า ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด ขณะที่เห็นรู้สึกว่ามันจะสั้นเหลือเกิน แล้วจะระลึกได้เมื่อไรไม่ทราบ แต่รู้สึกว่าสั้นเหลือเกิน เพราะว่าเราเห็นแล้วเราเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของไปหมด ที่จะเห็นจักขุวิญญาณจริงๆ ไม่ทราบว่าโอกาสที่จะเห็นไม่รู้เมื่อไรจะเห็นได้ ไม่รู้ว่าจะเจริญสติอย่างไรถึงจะให้เห็นจักขุวิญญาณ
ท่านอาจารย์ ก็ผิดอีกแล้ว ไม่ทราบว่าจะเจริญสติอย่างไรถึงจะให้เห็น ถ้าสติระลึก แล้วปัญญาค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความรู้ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นไหม เพราะว่าไม่ใช่ใครเห็น แต่เป็นปัญญาที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นปัญญาก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้วก็จะเจริญอย่างไรที่จะให้เห็น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก
เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็นก็ไม่ต่างอะไรตามปกติ ค่อยๆ รู้ ขณะนี้เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เหมือนทางหูที่กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพรู้ธาตุรู้ หรือว่ากำลังคิดนึก ก็เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ หรือว่ากำลังรู้สิ่งที่แข็งที่อ่อนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่ต่างกันสำหรับทางตาที่เห็นกับทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก เหมือนกันหมด ธาตุรู้แล้วต้องเหมือนกัน
อ.นิภัทร เป็นเพราะว่าเราความเข้าใจไม่มั่นคง เพราะว่าเห็นทีไร ความเข้าใจไม่มีได้ยินที่ไรความเข้าใจไม่มี
ท่านอาจารย์ ต้องมีแน่ๆ ที่เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้พิสูจน์จริงๆ ว่า มี แล้วสิ่งนี้ต้องมีกับสภาพที่กำลังเห็น ถ้าไม่เห็น สิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ ก็เป็นปกติธรรมดา เหมือนกับได้ยิน เหมือนกับคิดนึก ต้องคิดแล้วเข้าใจว่า เป็นชีวิตประจำวัน แต่ลักษณะของสภาพหรือธาตุรู้นี้ ไม่เคยระลึกได้ หรือความเข้าใจยังไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นก็เต็มไปด้วยความสงสัย และไม่ต้องมีการเจาะจงว่า จะรู้จักขุวิญญาณ นั่นเป็นชื่อ แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็นที่จะไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้ เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ เริ่มที่จะพิจารณาให้เข้าใจในธาตุรู้ แยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วทางหนึ่งทางใดก็เหมือนกันหมดทั้ง ๖ ทาง
อ.นิภัทร ทีนี้เราก็เข้าใจแต่ชื่อ คือ ไม่เข้าใจสภาพจริงๆ ไม่เข้าใจที่เห็นจริงๆ ไม่เข้าใจ เห็นแต่ไม่เข้าใจ หรือเห็นแต่ไม่รู้ ได้ยินก็ได้ยิน แต่ว่าไม่รู้ คือมันความเข้าใจในขณะเห็น มันไม่เกิด ความเข้าใจในขณะได้ยิน มันไม่เกิด เป็นแต่เพียงจำได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นค่อยๆ อบรม ไม่ใช่ว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ขึ้น
อ.นิภัทร ไม่มีวิธีทำ
ท่านอาจารย์ ใครทำคะ มรรคมีองค์ ๕ ทำกิจของมรรค ไม่ใช่เราทำ
นิภัทร ก็คืออย่าไปนั่งหลับตาเพื่อที่จะให้เห็นวิปัสสนา เดี๋ยวนี้มันคือมันแปลไปเยอะ คือสรุปแล้วก็ว่า เรื่องที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องที่จะไปนั่งหลับตานึกเอา ทำอะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจขณะที่ธรรมเกิด ถ้าตราบใดความเข้าใจยังไม่ตรง ตรงนั้นสติก็ระลึกรู้ไม่ถูก สติก็ไม่เกิด
ผมจะขอเรียนถามอีกอันที่เรียกว่า กรรมปัจจัย ที่เรียกว่ากิเลสสั่งสมกรรม กรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก มันเฉพาะนานักขณิกกรรมปัจจัยเท่านั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าทำให้เกิดวิบากแล้ว ต้องเฉพาะนานักขณิกกรรม
อ.นิภัทร สหชาตปัจจัยไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพูดถึงวิบากเกิดขึ้นเพราะนานักขณิกกรรมปัจจัย ปัจจัยในอดีตที่ทำให้มีจักขุปสาทรูป มีจิตเห็นขณะนี้ ปัจจัยในอดีต ทำให้มีโสตปสาทรูป ที่ทำให้ได้ยินขณะนี้ นี่คือกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างวาระ เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดขึ้น แต่ว่าเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณพวกนั้นเป็นสหชาตกรรมปัจจัย
เพราะฉะนั้นปัจจัยที่เป็นกรรมปัจจัยมี ๒ อย่าง ถ้าพูดถึงสหชาตกรรมปัจจัย หมายความถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แม้ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ถ้าพูดถึงว่าเห็นในขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ต้องเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ถ้าจักขุวิญญาณในขณะนี้เป็นอกุศลวิบาก ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย เป็นนานักขณิกกรรมปัจจัย