บวชเลยดีมั้ย


    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเรื่องกรรมแล้ว ชีวิตประจำวันของเราทุกๆ วันทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะการเห็น การได้ยิน การคิดนึกต่างๆ เหล่านี้ จะถือว่าเป็นกรรม ถ้าเราไม่ทำอะไร เรานั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ เราคิดว่าเราถือว่า เราทำกรรมไหม นั่งอยู่เฉยๆ ว่า เราไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าถ้าขืนทำไป ก็มีแต่เรื่องผิดอยู่ตลอดเวลา เราก็นั่งอยู่เฉยๆ ดีกว่าจะได้ไม่ต้องทำอะไรเลย สบาย ไม่ต้องมีอะไร อย่างนี้จะเป็นกรรมได้ไหม ขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องดูเรื่องของอกุศลกรรมบถ แล้วก็องค์ของอกุศลกรรมบถด้วย นั่งเฉยๆ แต่ว่าคิดปองร้ายคนอื่น คิดพยาบาท คิดจะฆ่าใครได้ไหม เพราะว่าบางคนนั่งเหมือนกัน แต่ใจไม่เหมือนกัน คนหนึ่งนั่งแล้วก็คิดเรื่องที่ดี อีกคนนั่งแล้วก็คิดเรื่องที่จะเบียดเบียนทำร้ายคนอื่น หรือว่าคนหนึ่งนั่งแล้วก็คิดแผนการที่จะปองร้ายทำร้ายใครก็ได้ ฆ่าก็ได้

    ผู้ฟัง แค่คิดเท่านั้น ไม่น่าจะมีผล ถ้ามองในแง่ของความรู้สึกสบาย เฉยๆ นั่งเฉยๆ ไม่น่าจะมองว่า

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นเจตนาที่เป็นอกุศลที่คิดร้ายขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะทำหรือยังไม่ทำ เพราะเหตุว่าการกระทำทุจริตก็ต้องมีบุพพเจตนา คือ การตั้งใจไว้ก่อน หรือการคิดก่อน ถ้าไม่คิดตั้งใจก็คงจะไม่มีใครทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าอาจจะทำได้ โดยการที่ว่า เพียงแค่เดินผ่านไปอาจจะพบงู แล้วเลยฆ่าเสีย โดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน แต่การฆ่าในขณะนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งไม่ได้เตรียมแผนการมาก่อน แต่ว่าบางอย่าง บางแผนการก็ต้องตระเตรียมการที่จะทำทุจริต

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะกะเกณฑ์ไปว่า คนนั่งเฉยไม่เป็นอกุศล หรือว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เพียงแต่ว่าการกระทำนั้นยังไม่เกิด แต่จิตใจในขณะนั้นเริ่มเป็นอกุศลเจตนาที่จะกระทำกรรมให้สำเร็จได้

    ด้วยเหตุนี้ก็มีความละเอียดที่ว่า ถ้าถือเจตนาเจตสิกเป็นกรรม จำแนกเป็นชาติต่างๆ แล้วก็ยังต้องดูว่าเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าคิดดี คิดที่จะถวายทาน อันนั้นก็จะเป็นบุพพเจตนาของกุศลกรรม หรือนั่งเฉยๆ แล้วสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ยิ่งกว่าทาน เพราะเหตุว่าเป็นขณะการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่การที่จะถือการนั่งเฉย แล้วก็คิดว่าปลอดภัย

    ผู้ฟัง นี้ผมคิดว่า ถ้าเอาใหม่ นั่งเฉยๆ คิดไม่ดี ผมก็ทำบ้าง ก็ไปบวชเลยดีกว่า บวชเป็นกุศลอย่างนี้ บวชเพื่อจะหนีกรรมไม่ดี ทำดีไปบวช บวชแล้วคิดว่าคงจะไม่ทำกรรมชั่ว จะเป็นอย่างนั้นได้ไหม หากเราไม่มีเจตนาที่จะทำกรรมชั่ว กรรมไม่ดีทั้งหลาย ก็เอาวิธีการบวชเป็นเครื่องแก้ ในการที่จะทำกรรมไม่ดี เรื่องวิธีการเมื่อกี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่จุดประสงค์ของการบวช ไม่ใช่เลี่ยงไปบวช หนีไปบวช นั่นไม่ใช่ ผู้ที่จะบวช หมายความว่าเป็นผู้เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ในเพศของบรรพชิต หมายความว่าเจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิต เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ไม่ต้องบวชก็เจริญสติปัฏฐานได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นความต่างกันของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัทระหว่างผู้ที่บวชกับผู้ที่ไม่บวช คือว่าพุทธบริษัทที่ไม่บวช เพราะว่าไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะบวช ไม่มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตได้ แต่ว่าคฤหัสถ์ผู้นั้นก็เป็นพุทธบริษัทที่ดี สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และท่านอื่นๆ อีกมาก ท่านก็เป็นผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นการจะบวชไม่ใช่การหนีไปบวช

    ผู้ฟัง ไปไม่พ้นอีกแล้ว ต้องเจริญสติปัฏฐานอย่างที่อาจารย์ว่า คือเรื่องต้องอบรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ก็คือว่าเริ่มรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองแล้ว อัธยาศัยแท้ๆ เป็นอย่างไร มีอัธยาศัยใหญ่ถึงกับจะเพื่อปฏิบัติธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์หรือไม่ เพราะว่าสำหรับเพศคฤหัสถ์ ถ้าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงพระอานาคามี ไม่บวชก็ได้ แต่ถ้าได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็บวชแน่นอน เพราะฉะนั้นความต่างกันก็อยู่ที่จุดว่าเพื่อการบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง นี่คือจุดประสงค์สูงสุด คือว่าปฏิบัติทางธรรม


    หมายเลข 8939
    22 ส.ค. 2567