ผลของการยินดีในบาป


    อ.กฤษณา มีท่านผู้ร่วมสนทนาจะมีปัญหาอะไรไหมคะ

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องการอนุโมทนาในส่วนบุญ ทีนี้พูดถึงเรื่องบาปบ้าง ทำบาปแล้วจะอุทิศบาปให้คนอื่น หรือว่ายินดีในการทำบาปของผู้อื่น เราก็ได้บาปด้วยใช่ไหมครับ อย่างเช่นพระองค์ทรงปวดพระเศียร พระพุทธองค์ทรงมีบุพกรรมเนื่องด้วยว่าครั้งหนึ่งชาวประมงจับปลาแล้วยินดีในการทำบาปนั้น บาปที่ยินดีในการกระทำบาปของคนอื่นส่งผลให้ปวัตติกาล ทำให้พระองค์ทรงปวดพระเศียร เพราะฉะนั้นผมจึงเข้าใจว่า ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นทำบาป เราก็พลอยได้รับบาปไปด้วย

    อ.กฤษณา ไม่ใช่บุญกิริยาวัตถุ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่บุญกิริยาวัตถุ แต่เป็นสภาพที่ตรงกันข้าม เหมือนกับว่า เห็นคนอื่นทำบุญแล้วอนุโมทนา ในส่วนบุญ เราก็สำเร็จเป็นบุญด้วย เป็นอย่างนั้นไหมครับ

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนาเวลาที่คนอื่นทำบุญเป็นกุศล เป็นบุญกิริยา

    ผู้ฟัง ทีนี้เห็นคนอื่นทำบาป เราก็สะใจสมใจไปด้วย เราก็พลอยได้บาปไปด้วย อย่างนั้นไหมครับ

    ท่านอาจารย์ พลอยได้บาป หรือว่าขณะนั้นจิตเราเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นจิตของเราเองที่เป็นอกุศลในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเกิด

    อ.กฤษณา แล้วท่านอาจารย์สมพรอย่างนี้ อย่างที่คุณเรียงกล่าว เป็นการตรงข้ามกับบุญกิริยาวัตถุ พูดได้ไหมเป็นบาปกิริยาวัตถุ โดยศัพท์ ขออาจารย์สมพร กรุณา

    อ.สมพร ผมแยกศัพท์นิดหนึ่ง ปัตติ ทาน ปัตติ แปลว่าส่วนบุญ ทาน แปลว่าให้ การให้ส่วนบุญ ปัตติทาน เพิ่มมัย อีกตัว ก็ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เราให้เขานี่ครับ อุทิศส่วนกุศล แล้วก็ปัตตานุโมทนา ปัตตาก็มาจากปัตติ อนุโมทนา อนุโมทนาส่วนบุญที่คนอื่นเขาทำ ขณะที่เราอนุโมทนา เราก็พลอยดีใจด้วยในกุศลที่คนอื่นเขาทำ ขณะนั้นจิตของเราก็ผ่องใส่ ก็เป็นกุศล ถ้าเราไม่อนุโมทนา บางครั้งจิตเราจะกระด้าง เหมือนว่าเรามีความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนไม่ได้ อย่างนี้เป็นอกุศล แต่ปัญหาที่ถาม ถามว่าคนอื่นทำบาปแล้วเราก็พอใจ คำว่าพอใจ ไม่ใช่อนุโมทนา เป็นฉันทะ ฉันทะเกิดร่วมกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ตรัสบุพกรรมของพระองค์ บุพพกรรมหมายความว่ากรรมในชาติก่อน ขณะนี้พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทุกข์ใจไม่มี แต่มีทุกข์กาย ทุกข์มี ๒ อย่าง ทุกข์กาย ทุกข์ใจ พระองค์ตรัสว่าทุกข์กายของพระองค์ที่เกี่ยวแก่ปวดพระเศียร เนื่องมาจากชาติหนึ่งพระองค์เกิดเป็นมนุษย์ แล้วเห็นเขาฆ่าปลา แล้วพระองค์ก็พอใจในการฆ่าสัตว์ เท่ากับว่าสนับสนุน เพราะว่ากิเลสมันเกิดแล้วก็สลับกันอย่างรวดเร็ว ถ้าพอใจ พอใจนี้ก็คือ ฉันทะเกิดร่วมกับโลภะก็ได้ กับโทสะก็ได้ แต่การฆ่าสัตว์นั้นเป็นโทสะ แต่พอใจ พอใจครั้งแรกอาจเป็นโลภะก็ได้ คือ พอใจเกิดร่วมกับโลภะส่วนมาก แต่นี้ขณะที่ฆ่าสัตว์เป็นโทสะ ก็เท่ากับว่าเกิดร่วมกับโทสะ ด้วยบาปกรรมอันนั้นแม้นิดหนึ่ง บาปกรรมอะไรก็แล้วแต่นิดหนึ่ง ได้โอกาสให้ผลย่อมให้ผล แต่บาปกรรมอันนั้นไม่ใช่บาปกรรมมากมาย จึงไม่ให้ผลในปฏิสนธิ ทำให้พระองค์เกิดในอบาย แต่ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมแล้ว แม้นิดหนึ่งต้องให้ผลคือให้วิบาก เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์เกิดมาแล้ว บาปกรรมอันนี้ได้โอกาสก็ให้พระองค์ปวดศีรษะ เป็นทุกข์กาย เรื่องเป็นมาอย่างนี้


    หมายเลข 8942
    22 ส.ค. 2567