ดับอวิชชาได้เมื่อไหร่ก็หมดกิเลส


    อ.กฤษณา ขออาจารย์ช่วยให้ความหมายศัพท์ ว่าโดยศัพท์ของคำว่าวิปากะ

    อ.สมพร วิปากะ ถ้าแยกศัพท์ก็ วิ ศัพท์หนึ่ง ปากะ ศัพท์หนึ่ง วิ แปลว่าต่างๆ ปากะ แปลว่าผล พูดรวมเป็นผลของกุศลหรืออกุศล ก็ผลต่างๆ ถ้าเราทำกุศล ก็เป็นผลของกุศล ทำอกุศล ก็เป็นผลของอกุศล คำว่า ปากะ มีหลายนัย อีกนัยหนึ่งแปลว่า สุก งอม แต่ในที่นี้คำว่าสุกงอม อาจเข้าใจยาก ท่านเลยใช้คำว่าผลต่างๆ คือ ผลของกุศล ทำกุศลก็ได้ผลของกุศล เรียกว่าวิบาก แล้วก็ต่างๆ ไม่ใช่กุศลอย่างเดียวหรืออกุศลอย่างเดียว อกุศลก็มีหลายอย่าง กุศลก็มีหลายอย่างผลของมัน จึงใช้คำว่าวิปากะหรือวิบาก

    ท่านอาจารย์ ความจริงเรื่องของธรรมก็เป็นเรื่องยาก และถ้ายกอะไรขึ้นมานิดหน่อย แล้วจะพูดให้ยาวกว่าเดิมไปตลอด ก็คงยาก แม้แต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ก็ควรจะกำจัดลงมานิดหน่อยว่า สังขารที่นี่ต้องหมายความถึงเป็นไปในวัฏฏะ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลกรรมที่ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ แล้วกุศลที่เป็นไปในกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ถ้าพูดอย่างนี้ก็ยาวไปอีก เพราะว่าเรายังไม่ได้เรียนเรื่องของจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่จะยกธรรมข้อหนึ่งข้อใดมา จะเห็นว่า ต้องพูดสั้นสำหรับตอนต้นๆ เพราะเหตุว่ามิฉะนั้นจะไปเกี่ยวกับเรื่องของจิตเป็นประเภทต่างๆ แต่ให้ทราบว่า ตราบใดที่ยังมีอวิชชา และยังไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ อวิชชานั่นเอง ความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ถ้าทำให้เกิดอกุศลจิต นี่โดยตรง หมายความว่าต้องเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นอกุศลอื่นๆ เกิดร่วมกับอกุศลจิต ถ้าเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต แล้ว ไม่ใช่โดยตรง เพราะเหตุว่าต้องเป็นโดยปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สหชาตปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดยาวๆ แต่ขอให้ทราบแต่เพียงว่า เพราะยังมีอวิชชาจึงต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งก็ต้องเป็นไปเพราะกรรม ซึ่งต้องมีทั้งฝ่ายกุศลกรรม และอกุศลกรรม ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ แต่ถ้าดับอวิชชาก็ไม่มีกรรม เพราะเหตุว่าหมดกิเลส


    หมายเลข 8947
    22 ส.ค. 2567