สภาพธรรมที่สะสมจนมีกำลัง


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อารัมมณปัจจัยกับ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้ถึงเรื่องของปัจจัย เพราะคุณสุรีย์จะไปถึงปริจเฉทที่ ๘ การศึกษาธรรมก็เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมโดยเฉพาะในขณะนี้ ที่สำคัญ แล้วที่เรามีปัจจัยมากมายหลายปัจจัยต่อเมื่อเราได้เข้าใจสภาพธรรม เช่น จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดแล้ว ถึงจะกล่าวถึงการเป็นปัจจัยได้ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ปัจจัย หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยเกื้อกูลอุดหนุนให้สภาพธรรมเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ ซึ่งในขณะนี้เรากำลังมีชีวิตอยู่ แล้วทุกขณะที่ดำรงไป ต้องมีเหตุปัจจัย มีที่อาศัย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไม่กล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของปัฏฐาน เป็นเรื่องของอภิธรรมคัมภีร์ที่ ๗ แล้วก็อภิธัมมัตสังคหะก็ปริเฉทที่ ๘ แต่เราอยากจะรู้หรืออยากจะเข้าใจในขณะนี้ว่า ที่ทุกคนกำลังเห็นก็ดี กำลังได้ยิน กำลังคิดนึกต่างๆ กันไป ก็เพราะปัจจัย ให้ทราบว่า ต้องมีปัจจัย เพราะว่าบางคนก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมเราคิดอย่างนี้ หรือสงสัยว่าทำไมคนนั้นจึงทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจเรื่องปัจจัย แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีความสงสัยในเรื่องปัจจัยแน่นอน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นต่างๆ กัน ตามปัจจัย เพราะเหตุว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า อย่างคำว่า อุปนิสสยปัจจัย คำเดียว ยังไม่ต้องก้าวไปถึงความลึกซึ้งของปัจจัยนี้ โดยประการต่างๆ เช่น อารัมณูปนิสสยปัจจัย หรือว่าอนันตรูปนิสสยปัจจัย หรือแม้แต่ปกตูนิสสยปัจจัย แต่ให้เข้าใจเพียงคำว่า อุปนิสสยปัจจัย ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำว่าอุปนิสัย ถ้าใช่คำนี้ดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจ คนนั้นมีอุปนิสัยอย่างไร คนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร โดยเฉพาะครูก็รู้จักนักเรียนในชั้นว่าแต่ละคนต่างกัน หรือถ้าเราจะอยู่นอกห้องเรียน เราจะดูทั่วๆ ไปว่า แต่ละคนอุปนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนเป็นทานุปนิสัย คือ อุปนิสัยในการให้ทาน บางคนก็มีอุปนิสัยในการรักษาศีล สีลุปนิสัย บางคนก็มีอุปนิสัยในการอบรมเจริญภาวนา หรือเจริญปัญญา เป็นภาวนุปนิสัย

    นี่ก็นิสัยที่เรากระจายออกมาจากคำว่า อุปนิสัยหรือว่าอุปนิสสยปัจจัย แต่แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะทาน ไม่ใช่เฉพาะศีล ไม่ใช่เฉพาะภาวนา ทุกอย่างซึ่งแต่ละคนได้สะสมมาแล้วในแต่ละชาติ ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะเกิดโลภะขณะหนึ่ง โทสะขณะหนึ่ง เมตตาขณะหนึ่ง ศรัทธาขณะหนึ่ง หรือสภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งหมดซึ่งสะสมมา การสะสมนั้นเป็นปัจจัยที่มีกำลัง เป็นอุปนิสยเมื่อไร เมื่อมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นปัจจยุบัน คือ ถ้าพูดถึงปัจจัยแล้ว จะเว้นไม่พูดถึงปัจจยุบัน คือ ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น หรือว่า มีปัจจัยนั้นเป็นเหตุไม่ได้ เพราะว่าเป็นของคู่กัน เหมือนมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ คือมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงปัจจัย ก็ต้องมีธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยนั้นเกิดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้าเกิดโกรธขึ้นมา เห็นไหมคะ อุปนิสสยปัจจัย ต้องมีการสะสม แล้วขณะนั้นเป็นปัจจัยที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย หรืออย่างที่เราบอกไว้ว่าเราจะไม่แยกเลย จะใช้คำกว้างๆ ว่า อุปนิสสยปัจจัย หมายความว่าการสะสมความโกรธมีกำลังพอที่จะทำให้ความโกรธในขณะนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้โกรธตลอดเวลา บางทีเราก็โกรธ บางที่เราก็ไม่โกรธ บางทีคนทำอะไรที่เราน่าจะโกรธ เราก็ยังไม่โกรธ แต่บางทีบางคนทำอะไรเราไม่น่าจะโกรธ ก็เกิดโกรธขึ้นมา

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าขณะนั้นการสะสมของความโกรธจะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้โทสมูลจิตเกิดขึ้นหรือไม่ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นโทสมูลจิตที่เกิดขึ้นต้องมีอุปนิสสยปัจจัย ปัจจัยหนึ่งของการสะสมซึ่งมีกำลังในขณะนั้น จึงทำให้จิตขณะนั้นเกิดขึ้น นี่สำหรับอกุศลจิต สำหรับกุศลจิตก็เช่นเดียวกัน ในเวลาที่เรานึกจะให้ทาน ก็จะต้องมีการสะสมในเรื่องของทาน แล้วเวลาที่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ก็จะมีปัจจัยหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย คือ อุปนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น ศรัทธาก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย และทุกขณะจิตที่สะสมไปเป็นอุปนิสสยปัจจัย แม้แต่กรรมซึ่งได้กระทำแล้ว แล้วก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด เช่น ปฏิสนธิจิต เราเลือกไม่ได้เลยที่จะให้ปฏิสนธิจิตของเราในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นประเภทนี้ ทั้งๆ ที่มีกรรมมากมาย แต่ว่ากรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิด เพราะกรรมนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เฉพาะกรรมนี้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในชาตินี้ ซึ่งในชาติต่อไปก็ไม่มีใครทราบว่า กรรมใดที่ได้ทำมาแล้วทั้งในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิด แต่ว่าเวลาที่วิบากจิตเกิด ให้ทราบว่า เพราะมีอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิด ทั้งหมดเลย ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก

    เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้จึงเป็นปัจจัยที่กว้างขวาง เพราะเหตุว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่สะสมมามีกำลังพร้อมที่จะเป็นที่อาศัยที่มั่นคง ที่จะให้ธรรมที่เป็นปัจจยุบันเกิด ปัจจยุบันจิต คือ สภาพธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตวิบากจิตก็เกิด

    ผู้ฟัง อย่างเวลาที่เราเห็น สิ่งที่เราเห็นทางตา สมมติเอาทางตาก่อน การที่เราเห็น ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่มีกำลังแรงกล้าทำให้วิถีจิตเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทางตาที่เห็น ทุกคนก็ทราบว่า เป็นวิบาก คือ เลือกเห็นไม่ได้ แต่เป็นผลของกรรม ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นผลของกรรม แล้วกรรมก็มีเยอะ แต่กรรมใดทำให้วิบากจิตเห็นเกิดขึ้น กรรมนั้นนอกจากเป็นกรรมปัจจัยแล้วก็ยังเป็นอุปนิสสยปัจจัยด้วยที่ทำให้วิบากจิตนั้นเกิด


    หมายเลข 8948
    22 ส.ค. 2567