ทำบุญเพราะอยากได้บุญ
ผู้ฟัง ดิฉันอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์อีกสักข้อว่า อกุศลกรรมหรือกิเลส เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้ ช่วยยกตัวอย่างอันนี้หน่อย อันนี้ดิฉันก็ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์หมายความถึงปฏิจจสมุปบาทที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
ผู้ฟัง นัยของปฏิจ ถ้าเกิดโดยนัย
ท่านอาจารย์ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาททั้งหมดต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัจจัย จะไม่มีการกล่าวลอยๆ เลยว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เฉยๆ แต่ต้องบอกว่าโดยปัจจัยอะไร แล้วก็สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ก็เป็นปัจจัย โดยปัจจัยอะไร จะต้องบอกเหตุผลไว้ด้วย แต่ว่าเรามักจะไม่เอ่ยถึง เรามักพูดถึงปฏิจจสมุปบาทโดยสั้นๆ และก็ไม่บอกว่าโดยปัจจัยอะไร ก็ทำให้เกิดความสงสัย แต่ถ้าแจงละเอียดถึงโดยปัจจัยอะไรก็จะหมดความสงสัย ถ้าเข้าใจเรื่องปัจจัยนั้นๆ
ผู้ฟัง หมายความว่าอยู่ในเครือเดียวกัน
ท่านอาจารย์ อยู่ในเรื่องเดียวกัน ถ้าต้องเกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเรื่องปัจจัย
ผู้ฟัง ท่านผุ้ร่วมสนทนา การเรียนธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราจะมาคิดเอาเองไม่ได้ เราต้องมีอาจารย์คอยถาม คอยซักอาจารย์ อย่างเวลานี้ดิฉันคิดว่า กิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรม โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท เราเข้าใจ พอฟังคราวที่แล้ว วิทยุ อาจารย์บอกโดยอุปนิสสยปัจจัย นี้มันมีอีกนัยหนึ่งหรืออย่างไร วันนี้ก็ได้คำตอบจากอาจารย์ว่า มันอยู่ในเครือเดียวกัน อยู่ในพวกเดียวกัน
ท่านอาจารย์ แต่เห็นง่ายๆ ถ้าไปที่ไหนแล้วมีคนถามว่า ทำบุญอย่างนี้แล้วได้บุญมากไหม อะไรเป็นเหตุให้เขาถามอย่างนั้น เพราะว่าเขาต้องการผลของบุญมาก ก็แสดงให้เห็นว่า โลภะเป็นเหตุให้ทำกุศล เขาอยากได้บุญ
ผู้ฟัง อันนี้อาจารย์ก็ให้เหตุผล เขาอยากได้บุญมาก การที่เขาอยากได้บุญมากก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่สะสมไว้ให้เขาเกิดโลภะที่อยากได้บุญมาก จึงทำบุญได้กุศลใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ที่คุณสุรีย์ถามว่ากิเลสเป็นเหตุให้ทำกุศล
ผู้ฟัง ใช่ๆ ๆ
ท่านอาจารย์ กิเลสก็คือโลภะ ที่ต้องการกุศล ผลของกุศล ก็เป็นเหตุให้เขาทำกุศล
ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นคำตอบอีกอัน ที่ว่ากิเลสเป็นเหตุให้กระทำกุศล นี่เป็นตัวอย่างที่ดี ทีนี้หันกลับมาเรื่องของวิถีจิตโดยเฉพาะชวนวิถีจิต คือว่าซ้ำกัน ๗ ขณะ ก็เกิดสะสม การที่มันสะสมให้เกิดกำลังแรงกล้า ซึ่งเป็นที่อาศัยให้มีกำลังแรงกล้า คือสะสมมา ๗ หนๆ ๆ มันก็สะสมจนเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า เพราะฉะนั้นอุปนิสสยปัจจัยก็มีบทบาทให้เกิดการสะสมเหมือนกัน ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ชวนะเป็นกิจของจิต แล้วก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละขณะ
ผู้ฟัง มันก็เป็นอุป เหมือนกันใช่ไหมคะ อาจารย์คะ
ท่านอาจารย์ พูดถึงจิตที่เกิดที่สะสมต้องเป็น เพราะว่าศรัทธาก็เป็น อกุศลก็เป็น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล