คติ อุปธิ ปโยคะ


    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์นิดหนึ่ง ท่านอยากจะทราบว่า คติสมบัติ อุปธิสมบัติ กับปโยคสมบัติ อยากจะให้เราพูดก่อนว่า เป็นอย่างไร ท่านผู้ฟังจะได้เข้าใจว่า คืออะไร แล้วจะได้กลับมาพิจารณาว่ากาลสมบัติหรือกาลวิบัติอีกครั้งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ คติสมบัติคือกำเนิด เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ทรงแสดงธรรม คติวิบัติสำหรับพวกสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม

    ผู้ฟัง อันนี้ก็ฟังอีกทีดูเหมือนว่า จะเป็นสมัยพระพุทธองค์

    ท่านอาจารย์ นี้ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าคติวิบัติ หรือว่าถึงแม้ว่าสมัยนี้ก็ตามเรากำลังได้ฟังธรรม แต่พวกแมว พวกอะไรที่อยู่ที่นี่ก็ยังมานั่งฟังอยู่ด้วย ก็เป็นคติวิบัติ

    ผู้ฟัง เขาอาจรู้เรื่องหรือไม่ อันนี้เราก็ไม่ทราบ ทีนี้ไปถึงอุปธิ อาจารย์คะ

    ท่านอาจารย์ อุปธิ อาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายภาษาบาลี

    อ.สมพร อุปธิมีหลายอย่าง ในที่นี้ก็คงหมายถึงทรวดทรงร่างกายที่สมบูรณ์ อุปธิมีถึง ๔ อย่าง ขันธ์อุปธิ เกี่ยวกับร่างกายที่สมบูรณ์ ขันธูปธิ ไม่ใช่กิเลส กิเลสเรียก กิเลสูปธิ อุปธิ ธรรมชาติที่ทรงไว้ ขันธูปธิ ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งขันธ์ กิเลสูปธิ ธรรมชาติซึ่งทรงไว้ซึ่งกิเลส แล้วก็อภิสังขารูปธิ ทั้งหมดมี ๔

    อุปธิในที่นี้ หมายถึงขันธ์ คือ ร่างกายที่สมส่วน ที่ดีไม่พิกลพิการ เหมือนคนเกิดมาแล้วตาบอดหูหนวก ก็ไม่สมบูรณ์ ที่นี้อุปธิ ถึงพร้อมด้วยอุปธิ เรียกว่าอุปธิสมบัติ ถ้าว่าหูหนวก ตาบอด ก็เรียกว่า อุปธิวิบัติ ตาบอด หูหนวก ไม่สมประกอบ

    ผู้ฟัง แต่คนพวกนี้ก็อยู่ในกาลสมบัติได้ใช่ไหม

    อ.สมพร คำว่ากาลสมบัติ เราก็ต้องแยกว่า กาล คือ เวลา ส่วนใหญ่อย่างหนึ่ง ส่วนย่อยอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่ส่วนรวมอย่างที่ผมว่า ในประเทศนั้นถึงคราวทั้งหมดจะพินาศไปแล้ว นี่ส่วนใหญ่ หรือในสมัยพุทธกาล ส่วนมากเป็นกาลสมบัติ ก็เพราะว่าสัตว์ที่จะตรัสรู้ จะถึงความสุขมีมากในสมัยนั้น สมควรที่จะตรัสรู้ได้ ควรแก่กาลเวลานั้นเรียกว่า กาลสมบัติ นั่นส่วนใหญ่ ส่วนย่อยเราก็จำแนกไปบุคคล กาลก็อย่างหนึ่งหมายถึง เวลา แต่ในพระสูตรกล่าวถึงไว้ว่า ในสมัยใด พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ประพฤติธรรม ทีนี้ประชาราษฏร์ที่เคารพรักพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องประพฤติธรรมตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น ในสมัยนั้นเขาก็อนุโลมเข้าในกาลสมบัติ ถึงจะไม่สำเร็จมรรคผลก็ตาม ก็เป็นการให้ความสุข กรรมดีให้ผล เป็นกาลสมบัตินั่นส่วนใหญ่

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ดิฉันก็ไม่เข้าใจ อุปธิวิบัติ อีกนั่นแหละ ว่าคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ เขาก็เกิดกุศลได้

    ท่านอาจารย์ เขาคงจะได้รับวิบากไม่เท่ากับคนที่พร้อมด้วยอุปธิสมบัติ เพราะฉะนั้นการที่กรรมจะให้ผลพร้อมด้วยคติวิบัติกับคติสมบัติ เพราะฉะนั้นก็ประกอบกันถึงแม้ว่าจะมีกุศลกรรมที่ได้สะสมมาแล้วก็ตาม แต่ว่าถ้าเป็นกาลวิบัติ คติวิบัติ ปโยควิบัติ อุปธิวิบัติ ก็ไม่สามารถให้ผลได้สำหรับกุศลกรรม นี่ก็ต้องแยกกัน

    อ.นิภัทร อาจารย์ว่าก็ชัดเจน คนที่มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่ได้หมายความว่าเขาเสียหาย เขาอาจจะมีจิตใจเป็นกุศล มีอะไรทุกอย่าง แต่ว่าร่างกายไม่สมประกอบ มันก็เสียไป มันก็อาจถือว่าวิบัติแล้ว ไม่ต้องพูดแล้ว สมบัติที่มีอยู่ หมายถึงคุณงามความดี ให้ผลไม่ได้ แทนทีจะเป็นใหญ่โตก็เป็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ปโยค อาจารย์แปลศัพท์ได้ไหมคะ

    อ.สมพร ปโยค แปลว่า การประกอบ การประกอบในทางที่ดี คือว่าใจความก็คือความเพียร ในทางที่เหมาะสม คือว่ากระทำอย่างนี้ บางครั้งกรรมที่มีกำลังไม่แรงกล้า กรรมที่อ่อนถึงคราวจะให้ผล แต่ว่าด้วยปโยคสมบัติ ประกอบในส่วนที่ดี ก็ทำให้ไม่เดือดร้อนได้ ก็ทำให้ร่ำรวยต่อไปได้ ไม่ยากจน เพราะประกอบสุดในทางที่ถูก เช่นเรารู้ว่าเมื่อประพฤติอย่างนี้แล้ว ความเดือดร้อนจะเกิดประกอบ คือความเพียรอย่างนี้แล้วความเดือดร้อนไม่เกิด เช่นเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา อกุศลมักจะเกิดเสียก่อน แต่เราก็ประกอบ คือ มีความเพียรมีสติระลึก กุศลมันก็เกิดขึ้น หรือความสุขก็เกิดได้ เช่นทาง ๒ แพ่ง ทางหนึ่งจะไปทางมีหนามมีป่า ทางหนึ่งจะไปทางรกชัฏ ถ้าเราพยายามเพียรไปในทางที่ไม่เหมาะสม เราก็มีความทุกข์ อกุศลกรรมก็มีโอกาสเกิดเรียกว่าปโยควิบัติ ถ้าเราไปในทางที่เหมาะสม ที่ถูกต้อง กุศลกรรมก็ให้ผล ให้มีความสุขเรียกว่าปโยคสมบัติ ปโยคก็มีความหมายอย่างนี้ แปลว่าประกอบ

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงการกระทำ ใช่ไหมคะ

    อ.สมพร ครับ ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ การกระทำด้วยความสามารถ ถ้าเราทำดีมีความสามารถดีก็ให้ผลดี แต่ก็คงจะเหมือนภาษาที่เขาใช้กันว่า เก่งกับเฮง แล้วแต่ว่านอกจากมีเก่ง มีความสามารถแล้ว แล้วก็ยังต้องแล้วแต่กรรมว่า ทำมามากน้อยแค่ไหนด้วย

    อ.นิภัทร อุปธิสมบัติแล้วก็ปโยคสมบัติ คือถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมว่าก็คงสำเร็จไม่ได้ จะต้องพร้อม สมมติว่าในสมัยพุทธกาลก็ถือว่าเป็นกาลสมบัติ แต่ถ้าหากว่าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นนก เป็นสุนัข เป็นแมว แถววัดเชตวัน พระพุทธองค์ท่านก็ทรงแสดงธรรมทุกวัน แต่เราก็ไม่ได้อะไร นี้เรียกว่าขาด ใช่ไหม กาลสมบัติพร้อม แต่ว่าคติสมบัติเราไม่พร้อม คือขาดไป คือไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าหากเป็นอเหตุกบุคคล หรือสุคติกบุคคล หรือทุเหตุกบุคคลอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ติเหตุกบุคคล มันก็เรียกว่าไม่พร้อม คติก็วิบัติไปไม่พร้อมที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้น ก็ไม่ได้บรรลุ ฟังก็ฟัง เลื่อมใสก็เลื่อมใส แต่ไม่ได้บรรลุเพราะขาดคติสมบัติ คือเกิดมาไม่ได้พร้อมด้วยติเหตุ ไม่ได้พร้อมด้วยติเหตุ ไม่ได้พร้อมด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหเหตุ ที่เป็นฝ่ายกุศล

    ท่านอาจารย์ ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย อย่างปโยคสมบัติกับอุปธิวิบัติ อย่างคนที่เกิดมาดี มีกรรมดี เขาก็อยู่ในประเทศหรือในส่วนของโลกซึ่งสบาย แต่ว่าถ้าเขาไม่ได้ประกอบการงานอะไรเลย ทั้งๆ ที่เรามองเห็นว่า เขามีความสุขมาก เกิดมาไม่ต้องทำอะไรเลย เรียกว่าอยู่บนกองเงินกองทอง แต่ถ้าเขาจะประกอบกรรมดีด้วยความสามารถมีปโยคสมบัติมากกว่านั้น เขาจะได้รับผลมากกว่านั้นอีก แต่เพราะเหตุว่าเขาไม่มีการประกอบ หรือว่าอาจประกอบไม่เก่ง การงานทำไม่เก่ง สมบัติซึ่งมีมากก็อาจจะสูญเสียไปสักครึ่งหนึ่งหรือค่อนหนึ่งก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีสมบัติซึ่งเป็นผลของกรรมดีมาแล้ว แต่ว่าปโยคสมบัติไม่มี ก็ทำให้ไม่ได้มากมายกว่านั้น หรือว่าถ้าเป็นปโยควิบัติ สมบัติที่มีอยู่แล้วนั้นก็เสียไปได้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คือความละเอียดของธรรม แม้ว่าเราจะรู้ว่า ทำกุศลแล้วกุศลวิบากก็อาจจะเกิดหรือไม่เกิดได้ ต้องมีองค์ประกอบ ๔ อย่างว่า อันนี้ก็คงจะจบสำหรับ ลักษณะของจิตประการที่ ๓


    หมายเลข 8952
    22 ส.ค. 2567