สัมปยุตปัจจัย - วิปยุตปัจจัย


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ คือ สัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ สักครู่เราก็ได้พูดถึงนามธรรมกับรูปธรรมเป็นวิปปยุตต์กัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อาศัย

    ผู้ฟัง ขณะอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นปัจจัย ไม่ว่านามจะเป็นปัจจัยแก่รูป หรือว่ารูปจะเป็นปัจจัยแก่นามก็ตาม ต้องเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัย

    ผู้ฟัง ที่เป็นวิปปยุตต์กัน คือ ไม่ประกอบกัน นามธรรมกับรูปธรรมที่ไม่ประกอบกัน ไม่ทราบว่าก็เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้จึงไม่ประกอบกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกัน คือ รูปคือรูป นามก็คือนาม แต่อาศัยกันได้ อย่างจักขุปสาทในขณะนี้เป็นปัจจัยแก่จิตเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นขณะนี้จะเกิดไม่ได้เลย แต่จักขุปสาทก็เป็นจักขุปสาท ไม่ได้รู้อารมณ์อะไรเลย แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยโดยปัจจัย และเป็นนิสสยปัจจัย และวิปปยุตตปัจจัย นี่ก็เป็นเรื่องที่ก้าวก่ายไปถึงปัจจัย ถ้าจะให้เข้าใจธรรมโดยละเอียด

    ผู้ฟัง เกี่ยวโยงสืบเนื่องกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ก็เพียงยกตัวอย่างให้เห็นคร่าวๆ เท่านั้นเอง ให้เห็นว่า ศัพท์ที่เราใช้จะใช้ได้ตลอดในพระไตรปิฎก ถ้าเราเข้าใจความหมายจริงๆ อย่างถ้าเข้าใจความหมายคำว่าวิปปยุตตะ ไม่ประกอบ ไม่ว่าจะใช้ในที่ใด เช่น กับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต ก็แปลว่าไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ หรือว่าจะไปถึงปริจเฉทอื่น หรือคัมภีร์อื่น เช่น คัมภีร์ปัฏฐาน ก็มีวิปปยุตตปัจจัย ก็ไม่ต้องสงสัยอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยกันก็ มีนามธรรมกับรูปธรรมนี้แหละ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่นามธรรมอาศัยนามธรรมเกิดขึ้น ก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่เวลาที่นามธรรมอาศัยรูปเกิดขึ้น หรือรูปนั้นจะอาศัยนามเกิดขึ้นก็ตามเป็นวิปปยุตตปัจจัย ก็ให้เข้าใจไว้เพียงคร่าวๆ อย่างนี้

    ผู้ฟัง คือที่สงสัยเป็นปัญหาเมื่อสักครู่ก็คือว่า ถ้านามธรรมกับนามธรรมสัมปยุตต์กัน เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าเป็นนามธรรมกับรูปธรรมไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ทรงแสดงให้เห็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม คือทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ ให้เห็นว่า ถ้าเป็นนามธรรมแล้วเป็นสัมปยุตตปัจจัย เข้ากันได้สนิท ทั้งเกิด ทั้งดับ ทั้งที่เกิด ทั้งอารมณ์ นั่นคือลักษณะที่ใช้คำว่า “สัมปยุตตปัจจัย” เพื่อแสดงให้เห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม ก็มีแต่เพียงนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างเท่านั้นจริงๆ แล้วก็อาศัยกันเกิดด้วย แต่เวลาที่อาศัยกัน โดยนัยต่างๆ จริงๆ เช่น ถ้าแยกนามธรรมออกอาศัยกัน ส่วนของนามธรรมก็เป็นโดยสัมปยุตตปัจจัย แต่ถ้าเป็นนามธรรมอาศัยรูป หรือรูปอาศัยนาม ก็เป็นโดยวิปยุตตปัจจัย เป็นการแสดงให้เห็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    คุณอดิศักดิ์ ขอถามอาจารย์สุจินต์ รูปเกิดพร้อมกับนามเป็นสหชาตะ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

    คุณอดิศักดิ์ ถึงจะเป็นสหชาตะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะฉะนั้นจำไว้ได้เลย แยกไปเลย สหชาตะ คือ เกิดพร้อม อะไรจะเกิดพร้อมกันอย่างไร อะไร เมื่อไร ก็เป็นสหชาตะ แต่ถ้าใช้คำว่า ปัจจัยหมายความว่าต้องเป็นปัจจัยกันด้วย ไม่ใช่เกิดพร้อมกันเฉยๆ

    คุณอดิศักดิ์ ทีนี้ก็ฟังๆ ดูแล้ว จิต เจตสิก ใช้คำว่า “สัมปยุตต์” ถ้ามาเทียบภาษาไทยเหมือนกับว่าผสมกันได้ แต่ถ้านามกับรูปเกิดพร้อมกัน แต่ไม่ผสมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่านามคือนาม รูปคือรูป

    คุณอดิศักดิ์ นามคือนาม แล้วกลับไปใช้คำว่าวิปปยุตต์ด้วย ถึงแม้จะเกิดพร้อมกัน ก็ยังใช้คำว่าวิปปยุตต์ด้วย ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ แยกให้เห็นสภาพที่ต่างกันจริงๆ ถ้าสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม ก็จะไม่มีตัวตน เพราะเหตุว่าสามารถจะรู้ได้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ชัดเจน ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ว่ามีสภาพลักษณะของธรรมที่จะปรากฏให้ปัญญาค่อยๆ รู้ชัดขึ้น จนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า รูปธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปใด ขณะไหนทั้งสิ้น ก็คือรูปธรรมนั่นเอง


    หมายเลข 8953
    22 ส.ค. 2567