จิตต่างกับเจตสิกแต่ไม่แยกกัน


    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ กระผมสงสัยว่าจิตเจตสิกนี่ ถ้าเราพูดถึงเรื่องจิต จิตอย่างเดียว จิตเท่านั้น แต่ความจริงตัวการคือเจตสิกใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ตอนต้นยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเจตสิกเลย กำลังพูดถึงเรื่องลักษณะของจิต แล้วอีกประการหนึ่ง จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่แยก ไม่มีใครสามารถที่จะแยกจิตออกจากเจตสิกได้เลย เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน แต่ว่าต่างหน้าที่ เพราะฉะนั้นบางแห่งจะใช้คำว่านามธรรม แทนที่จะใช้ตำว่าจิต เจตสิกก็รวมกันเป็น ๕๓ คือเจตสิก ๕๒ ลักษณะกิจการงานเฉพาะแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ส่วนจิตนั้นก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น แต่เมื่อจิตกับเจตสิกรวมกันแล้วก็ทำให้เกิดสภาพต่างๆ กันของจิตแต่ละขณะซึ่งก็พร้อมกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันนั่นเอง แต่ไม่มีการที่จะพยายามไปแยก แยกไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมมี แล้วก็เข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันชัดๆ ของจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารัมมณวิชานนลักขณัง ถ้าเกิดไม่มีเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง คงไม่เกิดความวิจิตร ที่เรียกว่าต่างๆ กัน ถ้าพูดถึงจิตอย่างเดียวก็คงจะมีลักษณะเพียงแค่รู้

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ถ้า” ไม่มี ไม่มีถ้า ถ้าไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เป็นจิตนิยามซึ่งจะต้องประกอบกับเจตสิก โลภมูลจิตซึ่งเป็นจิตโลภก็เพราะเหตุว่ามีโลภเจตสิกเข้าประกอบด้วย โทสมูลจิตซึ่งเป็นจิตโกรธ ก็เพราะมีโทสเจตสิกเข้าบังเกิดด้วย จึงมีลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าเข้าบังเกิด เกิดร่วมกัน ได้ไหม อยากจะใช้คำให้ตรง ให้ชัดว่าเกิดร่วมกัน

    ผู้ฟัง ลักษณะต่างๆ กันของจิต ซึ่งโดยปกติท่านบอกว่า อารัมมณวิชานนลักขณัง คือรู้อารมณ์เป็นลักษณะ แต่ที่ต้องแตกต่างออกไปเป็นจิตโลภ โกรธ หลง อิจฉา มัจฉริยะ ตระหนี่ เป็นไปตามอาการของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อกี้นี้ใช้คำอะไรที่คุณอดิศักดิ์กำลังคุยกัน ขอเชิญ

    คุณอดิศักดิ์ คืออาจารย์นิภัทรก็บอกว่า วิญญาณไม่มีเจตสิกได้ไหม แล้วก็จิตไม่มีเจตสิกได้ไหม เจตสิกเกิดไม่มีจิตได้ไหม แล้วก็พูดถึงจิตพระอรหันต์ไม่มีแม้กระทั่งกุศลแล้ว ผมบอกว่าถึงแม้ไม่มีกุศลจิตพระอรหันต์ไม่มีกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมก็เป็นกิริยาเหมือนกัน ก็เกิดร่วม แล้วเจตสิกบางดวงไม่เกิดร่วมกับจิต แต่ทุกขณะที่มีจิตก็ต้องมีเจตสิก แต่เจตสิกบางดวงอาจจะไม่เกิดร่วมกับจิต ก็แค่นี้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คือไม่แน่ ท่านผู้ฟังอาจจะไปผ่านข้อความไหนที่ว่า มีแต่วิญญาณแล้วไม่มีเจตสิก หรือว่ามีแต่เจตสิก ซึ่งคิดว่าเป็นเจตภูต หรืออะไรก็ไม่ทราบ แล้วก็ไม่มีจิตหรืออะไร อาจจะมีบางท่านซึ่งอาจจะผ่านข้อความอย่างนี้

    คุณอดิศักดิ์ ผมก็ตอบไปว่า จิตเกิดขึ้นทุกครั้งต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกเกิดขึ้นทุกครั้งก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกบางดวงไม่เกิดร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นควรจะแยกลักษณะ และกิจของจิต และเจตสิก อย่างที่รวมกันเมื่อกี้เป็น ๕๓ นามธรรม ๕๓ แยกเป็นจิตกับเจตสิก คือ จิต ๑ เจตสิก ๕๒ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ทำไมเจตสิก ๕๒ แล้วจิต ๑ เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะของตนของตน ส่วนจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เท่านั้น ถ้าจะกันเจตสิกออกไป ไม่ใช่แยก แต่หมายความว่า เข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้ว่าจิตกับเจตสิกจะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันก็จริง แต่ต่างทำกิจ และต่างมีลักษณะเฉพาะของตน เช่น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ใช่รู้อย่างปัญญาว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าเป็นจิตเห็นก็จะรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏทางตาคือเห็นจริงๆ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นเสียง จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏ อย่างเสียงคนในโลกนี้ไม่เหมือนกัน หรือว่าจะเอาแต่เฉพาะในประเทศไทยหรือในห้องนี้ก็ได้ อย่างบางคนรับโทรศัพท์ก็จำได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เสียงปรากฏ จิตที่จะจำได้ ที่สัญญาเจตสิกจะจำได้ ก็เพราะเหตุว่าจิตรู้แจ้งในอารมณ์ ในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งสัญญาก็จำความต่าง เพราะฉะนั้น ก็จำได้ว่าเสียงใคร เป็นต้น

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่กำลังเห็น จิตเห็น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ทางหูที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ขณะที่เสียงปรากฏ จิตรู้แจ้งสภาพของเสียง คือ การรู้อย่างนี้จะทำให้สติระลึก แล้วก็เข้าใจในลักษณะอาการของจิตซึ่งกำลังรู้เสียง หรือว่ากำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ว่า นี่คือลักษณะอาการของจิต การเห็นในขณะนี้ แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิดอีก ๕๒ ก็มีลักษณะเฉพาะของตนของตน เช่นเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก ถ้าถามโดยที่ว่าไม่เจริญสติปัฏฐาน ถามว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร บางคนก็บอกว่ารู้สึกเฉยๆ แต่พอจะระลึกรู้ลักษณะสภาพรู้สึกเฉยๆ บางคนก็อาจจะงง ว่าเป็นอย่างไร ลักษณะความรู้สึกเฉยๆ แต่เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เป็น ความรู้สึกซึ่งไม่เหมือนกับดีใจหรือเสียใจ

    เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นไม่ใช่จิต สภาพที่รู้สึกเป็นเจตสิก หรือสภาพที่จำก็เป็นเจตสิก ทุกคนเห็น แต่ไม่ได้หยุดที่เห็น คิดต่อ เวลาที่คิดให้ทราบว่า ต้องมีสัญญาความจำแน่นอน แล้วก็สัญญานั่นเองที่จำเรื่องนั้น ทำให้วิตกเจตสิกตรึกถึงเรื่องที่จำได้ ไม่มีใครบังคับความคิดได้ เวลาที่คิดให้ทราบว่า มีปัจจัยปรุงแต่งที่สะสมมาในรูปแบบต่างๆ ในชาติก่อนๆ จนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ ความคิดชั่วขณะนิดหนึ่งอย่างนี้ก็เกิดขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วก็ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็อยู่ที่ทุกคน ซึ่งถ้าระลึกขณะใดก็เป็นจริงขณะนั้น วิจิตรจริงๆ ค่ะ


    หมายเลข 8956
    22 ส.ค. 2567