สามัญลักษณะ
ผู้ฟัง คือเมื่อพูดถึงลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ เมื่อก่อนที่เริ่มศึกษาธรรมใหม่ๆ ก็เข้าใจเพียงสั้นๆ ว่า อนิจจลักษณะ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ทุกขลักษณะคือลักษณะที่เป็นทุกข์ อนัตตลักษณะคือลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนก็เข้าใจเพียงสั้นๆ แค่นี้ ท่านอาจารย์ก็ได้กรุณาให้ความกระจ่าง ความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนถึงการเข้าใจความหมายของอิริยาบถปิดบังทุกข์
ทีนี้ก็มีคำถามที่จะเรียนถามท่านอาจารย์สมพร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพยัญชนะโดยศัพท์ ใคร่ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพรกรุณาแยกศัพท์ หรือให้ความหมายของคำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย
อ.สมพร อนิจจัง ก็ปรากฏแล้ว อนิจจัง อะ ไม่ แล้วก็ นิจ จัง นิจจังแปลว่าเที่ยง อนิจจัง ก็ไม่เที่ยง ตรงตัวแล้ว
ผู้ฟัง แล้วทุกขัง
อ.สมพร ทุกขัง สภาวะที่เป็นทุกข์ หมายความว่ามันตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์ อันนี้ศัพท์เดียวไม่ต้องแยก
ผู้ฟัง ไม่มีอะไรประกอบกับอะไรเป็นทุกขัง
อ.สมพร ถ้าประกอบก็หมายความว่า มันเป็นของที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นสาระ ขัง ทุกขังเหมือนอากาศ ว่างเปล่าเป็นทุกข์ คล้ายๆ อย่างนั้น แต่ผสมเป็นศัพท์เดียว คือว่าเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีสาระอะไรเลยที่จะตั้งอยู่
ผู้ฟัง แล้วอนัตตา
อ.สมพร อนัตตาก็มาจาก นะ กับอัตตา แปลงนะเป็นอนะ ผสมกันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อะแปลงเป็นอนะได้ อนะ กับ อัตตา ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็หมายความว่าบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามปัจจัย เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ๓ อย่างนี้ เป็นสามัญญะ เป็นลักษณะที่เสมอกับสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าใคร เป็นยาจกเข็ญใจ พระราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ เสมอกันหมดเลย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าทั่วไป สามัญญะแปลว่าเสมอ หรือทั่วไป ไม่เว้นใครเลย แม้พระพุทธเจ้า