จำได้ แต่ไม่ใช่ประจักษ์


    พระคุณเจ้า เจริญพร ขอเรียนถามอาจารย์สมพร ในเรื่องความว่างเปล่า ลักษณะมันจะคล้ายๆ กับผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลจากทายาทลูกหลานอะไรในทำนองนั้น จะลักษณะเดียวกันหรือเปล่า คือว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักจะหงอยเหงา แล้วก็มีความทุกข์ มีความคิดกลัวจะถูกทอดทิ้ง อะไรทำนองนี้ ก็จะเกิดความว่างเปล่าอะไรทำนองนั้น จะเป็นลักษณะเดียวกันหรือเปล่า ขอจงแสดงด้วย

    อ.สมพร ความทุกข์ของผู้สูงอายุแบบนั้น เป็นกิเลสที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน กิเลสทั้งหมดซึ่งเป็นประธาน เป็นมูล เป็นรากเหง้า คือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ว่ากิเลสเมื่อเกิดขึ้นทุกครั้งทำจิตใจหวั่นไหว ก็จะต้องมีความฟุ้งซ่านประกอบอยู่เสมอ ขณะที่ว้าเหว่ คล้ายๆ ว่า ไม่สบายอกสบายใจ ขณะนี้ก็เป็นโทสะ ไม่สบายใจ แต่ถ้าขณะใดได้ลาภ และสิ่งของ ปลื้มอกปลื้มใจมากหรือน้อย ก็เป็นโลภะ เพราะว่าจิตของคนเราที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้เจริญสติ คงไม่ว่างจากโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะแน่นอน บางทีอาจจะเกิดติดต่อกันไปเป็นเวลานาน เพราะว่ายึดตัวว่า เป็นเราจริงๆ การที่ยึดอย่างนี้ก็เนื่องจากว่าไม่ได้ฟังธรรมของพระอรหันต์ ธรรมของพระอรหันต์ว่า ตัวตนนี้เป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ จริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงอย่างแท้จริง ถ้าเรายึด เราติดว่า เป็นเรา เป็นผู้ใหญ่ เคยมีลาภ เคยมีคนเอาของมาให้ ถ้าไม่ให้แล้ว ขณะนั้นจิตเราก็วุ่นวาย มีโทสะเกิด โทสะเกิด โทสะหมายความไม่สบายใจแม้นิด๑ก็เป็นโทสะ แต่เมื่อเราได้ของแล้ว โลภะก็เกิด จิตของเราไม่ได้ฟังธรรมจะไม่ว่างจากโลภะ โทสะเลย เชิญครับ

    ผู้ฟัง ปัญญาที่พระคุณเจ้าถามก็คงเป็นเรื่องของคนที่ขาดธรรมเป็นเกาะ ไม่มีธรรมเป็นที่พึ่ง จึงเกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวในเมื่ออยู่คนเดียว ซึ่งผิดกับผู้ทีมีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่างท่านพระอัสสชิ สละราชสมบัติไปบวช อยู่แต่ผู้เดียว ยืนเดิน นั่ง นอน มักจะอุทานว่า สุขหนอๆ เพราะว่าท่านมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ทางด้านจิตใจ ท่านจึงไม่อ้างว้างไม่เปล่าเปลี่ยว

    ทีนี้ปัญหาเรื่องศัพท์ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ที่มีความรู้ในภาษาบาลี กิเลสตัวแรกที่เราจะต้องละ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด มันมีอยู่ ๓ ศัพท์ อัตตสัญญา ความเห็นผิดคิดว่ามีตัวตน แล้วก็สักกายทิฏฐิ คิดว่า มีร่างกายของเรา เรามีกาย ในกายมีเรา และฆนสัญญา มีความหมายกว้างแคบอย่างไร ขอเรียนถามท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย

    อ.สมพร ก็ต้องเอาทีละศัพท์ ถามว่าอัตตสัญญา ใช่ไหมครับ สำคัญว่าเป็นตัวตนเป็นเราจริงๆ คือว่าถ้าเป็นเราจริงๆ เราก็สามารถบังคับได้ คำว่าอัตตาเป็นไปในศัพท์ว่าบังคับบัญชาได้ เป็นอัตตาก็เหมือนที่ชาวโลกเขาเข้าใจว่า เขาจะยืนเขาก็ยืนได้ ต้องการจะเดินก็เดินได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ เพราะตัวตนของเขา แต่เพราะไม่เข้าใจคำว่า “อัตตา” อัตตาแปลว่าบังคับบัญชาได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วบังคับได้หรือเปล่าตัวตน บังคับไม่ได้ การที่เรายืนได้ ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างจึงยืนได้ ถ้าอาหารไม่มีในท้องเลย ไม่มีแรง เราก็ลุกไม่ขึ้น หรือเราเป็นโรคอัมพาต หรือโรคร้ายแรงชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ลุกไม่ขึ้น ต้องพร้อมด้วยปัจจัยหลายอย่าง หรือเราไม่มี ต้องประกอบด้วยกรรมเป็นปัจจัย จิตเป็นปัจจัย อาหารเป็นปัจจัย อุตุเป็นปัจจัย เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้แล้ว จึงลุกได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เพราะปัจจัย ปัจจัยเหล่านี้เป็นแต่ละอย่าง เป็นแต่ละอย่างประชุมกัน

    ทีนี้คำว่าตัวตนจริงๆ เขาไม่ได้มุ่งถึงว่า เกิดเพราะปัจจัย เกิดเพราะความเข้าใจของเขาว่าเขาจะทำอะไรก็ทำได้ นั่นไม่ได้ศึกษาธรรมรายละเอียด เข้าใจแต่เพียงบัญญัติว่า เป็นเรา เป็นเขา นั่นเป็นแต่เพียงสมมติ พระองค์ก็ตรัสว่า สมมติก็จริงเหมือนกัน แต่จริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงโดยปรมัตถ์

    คุณอดิศักดิ์ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์สุจินต์จะมีอะไรให้มันชัดเจนกว่านี้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องด้วยปัญญา ถึงแม้ว่าเราจะเรียนมาสักเท่าไรว่า ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็อิริยาบถก็ปิดบังทุกข์ แล้วก็สันตติก็ปิดบังอนิจจัง ก็เป็นคำที่เราจำได้ แต่ว่าไม่ใช่การประจักษ์ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ระดับของปัญญาต้องเป็นไปตามขั้นด้วย


    หมายเลข 8960
    22 ส.ค. 2567