จิตโดยนัยพระอภิธรรม


    ผู้ฟัง ถามอาจารย์สุจินต์นิดหนึ่ง เราก็ได้แต่เรียนไป กิริยาบ้าง วิบาก กิริยาแล้วก็มาวิบาก แล้วก็มากิริยา มากุศล อกุศล แล้วก็มาวิบาก ตัวดิฉันเองเวลาโกรธแล้วรู้ว่ามันโกรธ ชวนะอีกแล้ว อันนี้เรารู้ชาติ ดิฉันรู้ชวนะแล้ว เวลานี้เรารู้ชวนะ แต่ทุกคนยังไม่รู้ กิริยา วิบาก กุศลจิต บางทีก็ไม่รู้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ทีนี้จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะให้เรามีความเชื่ออย่างมั่นคงในเรื่องของกรรม และผลของกรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจะไม่กล่าวถึงกิริยาจิต ก็จะมีจิตที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิต อกุศลจิต และจิตที่เป็นผล คือ อกุศลวิบาก และกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องของวิถีจิต ก็ไม่ทราบว่ามีผู้ฟังใหม่ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับชาติ ๔ ชาติว่า จิตจะมีมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม ในชาตินี้ทั้งหมด ชาติก่อนๆ หรือว่าจะในโลกนี้หรือว่าในสวรรค์ หรือในนรก หรือเป็นเปรต หรืออสุรกายก็ตาม เมื่อจำแนกจิตโดยชาติแล้ว เราก็โดยเหตุ และโดยผล และไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ก็จะมีจิต ๔ ประเภท ที่เรียกว่า ๔ ชาติ คือเป็นกุศล ๑ เป็นเหตุที่ดี แล้วก็ต้องทำให้เกิดผลที่ดี ซึ่งก็ต้องเป็นจิตนั่นเอง เป็นกุศลวิบากจิต ให้ทราบว่ากุศลเป็นจิต แล้วก็วิบาก คือผลของกุศลก็ต้องเป็นจิตด้วย

    เพราะฉะนั้นมีจิตซึ่งเป็นเหตุ และมีจิตซึ่งเป็นผล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุให้วิบากเป็นอกุศลวิบากจิตเกิด

    นี่คือให้ทราบว่ามีแต่จิต เจตสิก รูป แต่เวลาที่เราพูดเรื่องจิต เรายังจะไม่กล่าวถึงเรื่องเจตสิก เพราะเหตุว่าทราบกันอยู่แล้วว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีจิตเกิดขึ้นก็จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงจิตก็หมายความรวมถึงเจตสิก ถ้าพูดถึงกุศลจิตก็ต้องมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าพูดถึงอกุศลจิตก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าพูดถึงจิตซึ่งเป็นวิบาก ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ก็จะมีอกุศลวิบากเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลวิบากจิตด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วมีจิต ๔ ชาติ แล้วใน ๔ ชาตินี้ จะเห็นได้ว่าเป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ เป็นเหตุ ๒ แล้วก็เป็นวิบาก ๑ ซึ่งเป็นผล แล้วก็ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล คือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบากอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต

    ก็คงจะไม่ยากเกินไป ที่เราจะเข้าใจแล้วก็จำได้ในเรื่องชาติของจิต แล้วข้อสำคัญก็คือว่าลืมไม่ได้ ไม่ว่าจะไปถึงอริยสัจหรือว่าปฏิจสมุปปาท หรืออะไรก็ตาม ก็จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันโดยอะไร

    เพราะฉะนั้นขั้นต้นที่สุดของคนที่จะเข้าใจปรมัตถธรรม ก็คือว่าเมื่อรู้ลักษณะของจิตแล้วก็ยังจะต้องรู้ความละเอียดว่า จิตนั้นมี ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑

    ขณะนี้เราพอที่จะมั่นใจหรือยังว่า ขณะไหนเป็นชาติวิบาก เพราะว่าบางคนปนกันระหว่างวิบากกับกุศลจิต อกุศลจิต ให้ทราบว่าโดยนัยของพระสูตร เพราะว่าการแสดงธรรมมี ๒ นัย ถ้าเราไปกล่าวเรื่องของพระอภิธรรมโดยละเอียดแล้ว เข้าใจกันแล้ว เราก็ย้อนกลับมาหาโดยนัยของพระสูตร ซึ่งตามพระสูตรพระผู้มีพระภาคจะแสดงโดยย่อ เช่น ทางตา มีจิตที่เห็น แล้วก็เกิดความชอบไม่ชอบ นี่สั้นมากโดยนัยของพระสูตร ไม่ได้กล่าวถึงปัญจทวารวัชชะจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต อะไรเลย เพราะเหตุว่าจิตเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏ แต่ทางตาจิตที่กำลังเห็น กำลังเห็นอยู่ และเมื่อเห็นแล้ว เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เริ่มพิจารณาคร่าวๆ แล้วก็ความละเอียดเรื่องของอภิธรรมก็เป็นเครื่องประกอบที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ให้เข้าใจจริงๆ ไปนั่งที่ไหน ไปเห็นอะไร ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ให้ทราบว่า เป็นทางที่วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมจะเกิดขึ้น

    นี่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่ายับยั้งไม่ได้เลย ยังไม่พูดถึงเห็นแล้วชอบไม่ชอบ หรือว่าเห็นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ให้รู้จริงๆ ว่า วิบากจิตเพียงแค่เห็น เพียงแค่ได้ยิน เพียงแค่ได้กลิ่น เพียงแค่ลิ้มรส เพียงแค่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทางนี้ นี่โดยนัยของพระสูตรที่สั้นแล้วก็พอที่จะเห็นได้


    หมายเลข 8966
    22 ส.ค. 2567