กระแสของกรรมที่จะให้ผล


    เมื่อจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แล้วก็จะเปลี่ยนการให้ผลของกรรม เพราะเหตุว่ากรรมที่ไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ยังติดตามมาให้ผลหลังจากที่เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นคนเราเกิดมาแล้วในภูมิมนุษย์ ไม่ได้สุขตลอด ก็จะต้องมีบางวาระ ซึ่งอกุศลกรรมให้ผล ทำให้อกุศลวิบากเกิด หรือว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็อุปถัมภ์ ให้เราได้เห็นสิ่งที่ดีๆ ให้เราอยู่ในสภาพสิ่งที่กรรมนั้นจำแนกมาให้เราอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือในสถานที่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านั้น แต่ก็ยังมีอกุศลกรรมอื่นที่จรมาให้ผลด้วย

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า การที่จะรับผลของกรรมแต่ละวาระ ก็จะต้องมีการเกิดดับสืบต่อกันของจิตซึ่งกำลังเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่ได้รับผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังไม่รู้ว่ากรรมไหนจะให้ผล ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย เวลาที่กำลังเป็นภวังค์ แต่เมื่อจะรับผลของกรรมทางตา ก็จะต้องมีอารมณ์กระทบกับปสาท ถ้าเป็นทางตาก็คือรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท แล้วก็ต้องกระทบกับภวังค์ ไม่ใช่เพียงกระทบเฉยๆ แต่ต้องกระทบภวังคจิตเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ เพราะฉะนั้นภวังค์ที่ถูกกระทบ ที่ใช้คำว่าอดีตภวังค์หมายความถึงภวังค์ซึ่งมีอารมณ์ของภวังค์ แล้วก็ถูกกระทบ แล้วเมื่อภวังคจิตที่เป็นอดีตภวังค์นั้นดับไป ภวังค์ต่อไปยังเป็นภวังค์อยู่ มีอารมณ์ของภวังค์อย่างเดียวกัน ยังไม่เปลี่ยนอารมณ์ แต่เป็นภวังคจลนะ เพราะไหวเพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ แต่ยังรู้ทันทีไม่ได้ เพียงไหว แล้วเมื่อภวังคจลนะดับแล้วโดยอนันตรปัจจัยก็ทำให้ภวังคจิตเกิด ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ ชื่อว่า ภวังค์คุปัจเฉทะ นี่ก็ยังคงเป็นภวังค์ ยังมีอารมณ์เก่า ยังไม่ได้รับผลของกรรมอื่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนกว่าภวังค์คุปัจเฉทะดับ

    เมื่อภวังคุปัจเฉทะจิตดับแล้ว จะให้รับผลของกรรมทันทีไมได้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์อะไร ก็มีจิตเกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารไหน

    นี่คือการเกิดดับสืบต่อแต่ละวาระที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นจิตที่เพียงรู้ว่า อารมณ์กระทบยังไม่ใช่การรับผลของกรรม ไม่ใช่วิบากจิตแต่ทำกิจอาวัชชนะ คือรำพึง หรือรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตนี้ชื่อว่าอาวัชชนจิต แต่สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวาร จึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต ยังไม่ใช่เป็นเป็นการรับผลของกรรม

    นี่แสดงความละเอียดของการที่กรรมจะให้ผล ต้องมีอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว หลังจากนั้นวิบากจิต คือ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็น นี่คือในขณะนี้ ค่อยๆ ไป ยังไม่ถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ อะไร แต่ให้เข้าใจกระแสของกรรมที่จะให้ผล ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ความจริง ไม่มีการทำ ไม่มีการเตรียม เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมจิตกำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นสติระลึกขณะไหนได้ทั้งนั้น ไม่มีใครไปจัดสรรให้เห็นเดี๋ยวนี้เกิด ได้ยินเดี๋ยวนี้เกิด คิดนึกเดี๋ยวนี้เกิด แต่มีปัจจัยให้ธรรมเกิดสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นอกุศลจิต เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ หรือว่าเป็นโมหะ ก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วก็มีความเข้าใจถูกว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แล้วถึงจะค่อยๆ เข้าใจประเภทต่างๆ ของจิต เพราะเหตุว่าวิบากจิตก็ต่างจากกุศลจิต อกุศลจิต เช่นเห็นถ้ามีการระลึกได้จริงๆ รู้ว่า เป็นเพียงขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง ชั่วขณะที่กำลังรู้ว่า เป็นสภาพรู้ แล้วเวลาที่เกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นก็มีลักษณะของความติดข้องเกิดขึ้น ถ้าสติระลึกก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เห็น แต่เป็นอาการติดข้อง เป็นลักษณะติดข้อง เพราะฉะนั้นก็จะรู้ชาติที่ต่างกัน หรือประเภทที่ต่างกันของจิตว่า จิตที่เห็นก็เห็น ทำกุศลอกุศลไม่ได้ มีหน้าที่อย่างเดียวคือเห็นเท่านั้น จะให้จิตเห็นไปคิดใส่บาตร หรือว่าจะไปคิดเมตตากรุณาอะไรก็ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเพียงเห็นเท่านั้นเอง นี่คือหน้าที่ของวิบากทางตา แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วจะเกิดโลภะ จะเกิดโทสะ หรือจะเกิดกุศล นั่นคือจิตที่ไม่ใช่วิบาก


    หมายเลข 8971
    22 ส.ค. 2567