จิตที่ไม่ใช่วิถีมี ๓ ประเภท
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต แต่ในขณะเดียวกันเมื่อภวังคุปัจเฉทจิตเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ
ท่านอาจารย์ ยังค่ะ ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เสร็จแล้วก็มีวิญญาณจิตเกิดขึ้น ซึ่งในขณะที่วิญญาณจิตเกิดขึ้น มีสันตีรณจิต สัมปฏิจฉันนจิตแล้วก็โวฏฐัพพนจิต จิต ๓ ดวงนี้ ก็ไม่ใช่ภวังคจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิตเช่นเดียวกัน
ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต ถ้าไม่ใช่ภวังค์แล้วต้องเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นหลักที่จะจำได้ก็คือว่า ถ้าจะแบ่งจิต อีกประเภทหนึ่ง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือว่า จิตที่เป็นวิถีกับจิตที่ไม่ใช่วิถี แยกได้เลย
เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่วิถี มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ๓ จิตนี้เท่านั้นที่ไม่ใช่วิถีจิต นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด ที่ใช้คำว่าวิถี หมายความว่าอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเพื่อรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น อย่างจักขุวิญญาณ กำลังเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท เพราะฉะนั้นเป็นวิถีจิต อาศัยทวาร แล้วก็มีการเกิดดับสืบต่อที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางทวาร แต่สำหรับภวังคจิตรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวาร จึงไม่ใช่วิถีจิต
ผู้ฟัง กระผมเกรงว่าจะค้านกับคำว่า ภวังคจิต เป็นจิต ดำรงภพชาติ
ท่านอาจารย์ ดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้อารมณ์ ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น เพราะว่ากิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ แล้วการดำรงภพชาติเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ เหมือนกับปฏิสนธิกิจเป็นกิจ๑ ใน ๑๔ กิจ จุติกิจเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ กิจเห็นเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ กิจได้ยินเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ถ้าทำภวังคกิจ คือไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำจุติกิจ ถ้าทำทัศนกิจ คือ ไม่ได้ทำสวนกิจ ไม่ได้ทำภวังคกิจ ไม่ได้ทำจุติกิจ