ภูมิของสัมปยุตธรรม
ผู้ฟัง ความหมายของคำว่าภูมิที่ว่า หมายถึงระดับขั้นของจิต ในหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” ก็ได้กล่าวต่อไปว่า เป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม อยากจะขอให้ท่านอาจารย์กรุณาขยายความ หมายความว่าเป็นอย่างไร ที่ว่าเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม เรียนท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ ขอเชิญอาจารย์ ให้ความหมายของคำว่า “ภูมิ” ก่อนได้ไหมคะ ไม่ทราบว่าคำนี้เป็นภาษาบาลี แล้วจะมีความหมายอะไรบ้าง เราจะได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย
อ.สมพร ภูมิ ๒ อย่าง ภู - มิ อันนี้หมายความว่า มาจาก ภู ธาตุ แปลว่า มี แปลว่าเป็น ลง มิ ปัจจัย เลยเป็นภูมิ ซึ่งเราเรียกว่า ภูมิ เรียกทับศัพท์ว่าภูมิ มีความหมาย ๒ อย่าง หมายถึงจิตอย่างหนึ่ง หมายถึงที่สัตว์เกิดอีกอย่างหนึ่ง ที่สัตว์เกิดก็หมายความว่าเป็นภูมิ หรือแผ่นดิน เราก็เรียกว่าภูมิ ภู มิ แต่ว่าภูมิที่กล่าวว่าเป็นระดับ เป็นชั้นของจิต อันนี้หมายถึงว่าภูมิที่เกี่ยวแก่ระดับตั้งแต่ต่ำไปถึงสูง มี ๔ ระดับ ท่านจึงกล่าวว่าระดับของจิต มี ๔ ตั้งแต่ต่ำไปกระทั่งถึงสูง ภูมิแปลว่าระดับของจิต
ท่านอาจารย์ ภูมิ มีความหมายกี่ความหมายคะ
อ.สมพร อีกอันหนึ่งหมายความว่าสถานที่สัตว์เกิด
ท่านอาจารย์ แต่โดยรากศัพท์แปลว่า มี
สมพร แปลว่ามี
ท่านอาจารย์ เป็น ได้ไหมคะ
อ.สมพร ทั้งมี ทั้งเป็น ภู แปลว่ามีก็ได้ แปลว่าเป็นก็ได้ แล้วแต่ว่าท่านจะกล่าวไว้ว่าอย่างไร ต้องเอาอย่างเดียว มีก็มี เป็นก็เป็น
ท่านอาจารย์ แต่ที่ใช้คำว่า เป็นภูมิ คือ ระดับของจิตกับสถานที่เกิดของจิต นี่ก็ ๒ ความหมาย
อ.สมพร ก็ได้ เป็นภูมิเป็นระดับของจิต ภูมิหมายความว่าระดับของจิต มี ๔ ระดับมี ๔ ภูมิ ระดับของจิตมี ๔
ท่านอาจารย์ คราวก่อนเราพูดถึงเรื่องชาติของจิต คือ การที่จะศึกษาเรื่องของจิต หรือว่าปรมัตถธรรม สิ่งที่จะไม่ลืมเลยก็คือว่า เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็นในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการฟังที่ลืมไม่ได้เลย คือ ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูปเท่านั้น แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจสภาพของจิตขณะนี้ที่กำลังมี เจตสิก และรูปขณะนี้ที่กำลังมี นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมจริงๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีอยู่ แล้วในคราวก่อนเราก็ได้พูดถึงเรื่องจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าจิตในวันหนึ่งๆ ก็มีมาก เมื่อจำแนกโดยชาติ จิตที่เป็นเหตุ คือ เป็นกุศล เหตุที่ดีก็มี จิตที่เป็นเหตุที่ไม่ดี คือ อกุศลก็มี แล้วก็ยังมีจิตที่เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วมีจิตประเภทที่เป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบากก็มี ซึ่งเราก็คงจะค่อยๆ พูดถึงตามลำดับ
เพราะฉะนั้นวันนี้ที่เราจะจำแนกจิตโดยภูมิ ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับจิตที่เราได้กล่าวถึงแล้ว คือ การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ศึกษาแยกเป็นส่วนๆ แล้วก็ทิ้งไป แต่ว่าสิ่งใดที่ได้ฟังแล้ว ก็พยายามให้เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะว่าเรื่องของภูมิก็ต้องเกี่ยวกับจิตโดยประเภทที่เรากล่าวถึงแล้ว เช่น กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต จำแนกโดยชาติ ในจิตทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง
ทีนี้ถ้าจะแยกจิตทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง โดยภูมิ ก็คือ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑นั่นเอง แต่ว่าไม่ได้แยกโดยชาติ แต่ว่ามาแยกโดยระดับขั้น แต่จิตที่จะแยกโดยระดับขั้นก็ไม่พ้นจากชาติทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนเรื่องชาติทั้ง ๔ แล้ว ก็ไม่ลืม แต่เอาชาติทั้ง ๔ มาจัดระดับเป็นภูมิว่า จิตชาติทั้ง ๔ เป็นระดับขั้นไหนบ้าง เช่น ๔ ภูมิ ก็มี กามาวจรจิต หรือกามภูมิ เป็นจิตขั้นต่ำที่สุด ขณะนี้เอง ให้ทราบว่า เป็นปกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และเทวดา ซึ่งไม่ใช่พวกรูปพรหมในพรหมโลก ก็จะต้องมีจิตซึ่งเป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เพราะฉะนั้นแม้แต่เรื่องภูมิ เราก็จะตั้งต้นโดยการที่ว่า มีระดับขั้นของจิต ๔ ระดับ โดยชื่อก่อน คือ กามภูมิหรือกามาวจรภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต คือ จิตที่วนเวียนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้แต่ใจจะคิดก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจิตประเภทนี้เป็นกามาวจรจิต อาจารย์กรุณาให้คำอธิบายของกามาวจรจิตด้วยค่ะ
อ.สมพร กามาวจรจิตก็แบ่งออก กาม อวจร แล้วก็จิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม คือท่านให้ความหมายไว้หลายอย่าง บางครั้งท่านก็บอกว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปของตัณหา ซึ่งท่านว่าอย่างนั้น แต่ตามศัพท์ ก็แปลว่า กาม หมายความถึงความใคร่ อวจร ท่องเที่ยวไป แล้วก็มีจิตอีกอันหนึ่ง ก็มีความหมายอย่างนี้ เป็นที่ท่องเที่ยวไป คือเป็นอารมณ์นั่นเอง หมายความว่าเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตก็ได้ หรือคำว่ากามาวจรจิต เป็นที่ท่องเที่ยวไปของตัณหาก็ได้ ท่านให้ความหมายไว้ ๒ อย่าง เพราะจิตของเราเบื้องต่ำ ส่วนมากมีตัณหามาก
ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตภูมินี้จะไม่พ้นไปจากกาม
อ.สมพร ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส
ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะ จะจำกัดความหมายของคำว่า กาม เป็นกามอารมณ์ ๕ ได้ไหมคะ
อ.สมพร กาม ท่านกล่าวไว้ ๒ อย่าง วัตถุกาม และกิเลสกาม วัตถุกาม หมายความว่า จิตมักจะมีวัตถุกามเป็นอารมณ์เสมอ เช่น มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีอะไรอย่างนี้เสมอๆ เรียก วัตถุกาม แล้วท่านให้ความหมายไว้อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่ารูป เสียง กลิ่น รส เมื่อจิตมีอารมณ์เป็นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุให้ตัณหาเกิด ท่านจึงกล่าวว่าเป็นที่ท่องเที่ยวไปของกามตัณหา ท่านบ่งไว้อย่างนี้ มี ๒ นัยครับ
ผู้ฟัง กรุณาขยายความว่าเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรมอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะว่าสัมปยุตตธรรม หมายความถึงจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน นั่นเอง ถ้าใช้คำว่า สัมปยุตต์ โดยสัมปยุตตปัจจัยหรือสัมปยุตตธรรม จะไม่หมายความถึงอย่างอื่นเลยนอกจากจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นระดับขั้นของจิตกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงจิต เราก็จะรวมเจตสิกด้วยทุกครั้ง เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ แล้วเวลาที่พูดถึงเจตสิก ก็จะต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย แต่ว่าแล้วแต่ว่าเราจะเน้นที่เจตสิก หรือเน้นที่จิต แต่เมื่อจิตเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงจิตจะรวมเจตสิกด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่ความหมายของภูมิที่หมายถึงระดับขั้นของจิต และเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม อย่างเช่นว่ากามาวจรภูมิ อย่างนี้คงจะต้องหมายถึงกามาวจรจิต และเจตสิกที่ประกอบร่วมด้วย
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถูกต้อง รวมเจตสิกด้วย
มีข้อสงสัยในเรื่องของกามาวจรภูมิ หรือกามาวจรจิตไหมคะ เพราะเหตุว่าเป็นจิตระดับขั้นต่ำที่สุด ภูมิทั้งหมดมี ๔ ภูมิ คือ ภูมิขั้นต่ำ ได้แก่ กามาวจรจิต หรือกามาวจรภูมิ สูงขึ้นไปกว่านั้นก็คือ รูปาวจรจิต สูงขึ้นไปกว่านั้น คือ อรูปาวจรจิต และสูงสุดคือโลกุตตรจิต
เพราะฉะนั้นระดับขั้นของจิตมี ๔ ขั้น กามาวจรจิต ๑ รูปาวจรจิต ๑ อรูปาวจรจิต๑ โลกุตตรจิต ๑ เพราะฉะนั้นก็เป็นความจริงที่ว่า ทุกวันในชีวิตของเราไม่พ้นจากกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าตราบใดที่ไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่รูปฌาน ไม่ใช่อรูปฌาน ไม่ใช่โลกุตตรจิตแล้วละก็ ต้องเป็นกามาวจรจิต