รูปาวจรจิต - อรูปาวจรจิต ๑
ผู้ฟัง มีท่านผู้ร่วมสนทนาจะมีปัญหาอันใดจะเรียนถามก่อนไหมคะ ถ้าไม่มีจะขอเลื่อนไปถึงรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ เพราะว่าภูมิของจิตที่ระดับขั้นที่ต่ำที่สุดนั้นก็คือกามาวจรภูมิ ซึ่งก็ได้แก่ กามาวจรจิต ก็สนทนาผ่านไปแล้ว ทีนี้จิตระดับสูงขึ้นมากว่ากามาวจรจิต ก็คือ รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกกุตตรจิต ซึ่งก็จะได้สนทนาต่อไปตามลำดับ
สำหรับรูปาวจรจิตหรือรูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรจิต รูปาวจรภูมิ ก่อนอื่นก็จะขอเรียนท่านอาจารย์สมพรกรุณาให้ความหมายของรูปาวจรจิตกับอรูปาวจรจิตก่อน
อ.สมพร รูปาวจรจิต ก็แยกออกเป็น รูปะ กับ อวจร แล้วก็จิต ๓ ศัพท์สนธิกันเป็นรูปาวจรจิต คำว่า รูปะ แปลว่ารูป ก็หมายความถึงว่าเป็นภพภูมิอันหนึ่ง เป็นสถานที่บุคคลได้ฌาน ได้รูปฌานแล้วไปเกิดขึ้น เป็นภูมิ เรียกว่า รูปะ ท่านพูดสั้นๆ บางทีก็เรียกว่ารูปภูมิ คำว่า อวจร แปลว่าท่องเที่ยว จิตที่ท่องเที่ยว แต่บางครั้งเช่นเราเกิดในกามภูมิ เราได้ฌาน จิตเราก็ท่องเที่ยวไปในภูมินี้ได้ในรูป รูปคือนิมิตของฌานนั่นเอง ท่องเที่ยวไป ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ส่วนคำว่า อรูปฌาน อรูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป คือหมายความว่าไมมีรูปเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเป็นภูมิต้องไปเกิดในภูมิที่เป็นอรูป อรูปพรหม มีความหมายต่างกันนิดหน่อยอย่างนี้ รูป กับอรูป มีรูป ไม่มีรูป
ผู้ฟัง ในคำแรก รูปาวจรจิต ท่านอาจารย์ก็ให้ความหมายว่า รูปหมายถึงภูมิ อันหนึ่ง คือ รูปภูมิ อวจร ก็หมายถึงว่าท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นรูปาวจรจิต ก็คงจะหมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภูมิ แล้วก็สำหรับอรูปาวจรจิต ก็คือจิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป ซึ่งอรูป เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ หมายความว่าไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอารมณ์ หรืออย่างไรคะ อาจารย์สมพรคะ
อ.สมพร เราต้องศึกษาตั้งแต่ต้นก่อน อันนี้คือว่า รูปนิมิตที่เป็นอารมณ์ คนที่จะได้ฌาน ต้องได้นิมิต กสิณนิมิต เวลาที่ฌานจะเกิด มีปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตเป็นรูปแต่เป็นรูปนิมิต ไม่ใช่เป็นรูปปรมัตถ์ เป็นรูปโดยสมมติ หลับตาก็เห็นภาพ ภาพนิมิตนั้นปรากฏก่อนที่ฌานจะเกิด เรียกว่า อุปจารฌาน เกิดก่อน แล้วก็อัปปนาฌาน ฌานประกอบด้วยองค์ ๕ เกิดขึ้น มีรูปอันนั้น รูปนิมิตอันนั้นเป็นอารมณ์ คือ ระดับของจิตนี้สูงกว่ากามาวจรจิต เพราะไม่มีกิเลสพัวพันในขณะนั้น เพ่งรูปดิน หรือน้ำ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิต นิมิตอันนั้นแหละเรียกว่ารูปนิมิต มีรูปเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ท่านผู้ร่วมสนทนามีปัญหาอะไร ในเรื่องความหมายของรูปวจรจิตกับอรูปาวจรจิต ถ้ายัง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ เกี่ยวกับลักษณะของ รูปาวจรจิตกับอรูปาวจรจิต เป็นอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ คงทราบแล้วว่า กามาวจรจิตซึ่งเป็นกามภูมิ เป็นระดับของจิตขั้นต้นหรือขั้นต่ำสุด เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ ชีวิตประจำวันจริงๆ ของทุกคนที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้แต่การคิดนึกก็คิดนึกในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี่เอง เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ากามาวจรจิต เป็นระดับต้น แต่สำหรับรูปาวจรจิต เป็นอีกระดับหนึ่งของจิต ซึ่งไม่ใช่จิตที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตซึ่งสงบเป็นกุศลซึ่งยิ่งใหญ่ ใช้คำว่ามหัคคตะ อาจารย์คงจะให้ความหมายได้
อ.สมพร มหัคคตะหมายความว่าถึงความเป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ เป็นคำรวมของคำว่าอะไรบ้างคะ
อ.สมพร มหัคคตะมาจาก มหา คต ก็ถึง ถึงความเป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจภาษาบาลีอาจจะคิดเอาเองว่า ใช้คำว่า อรรค แต่ไม่มีเลย ใช่ไหมคะ มหา กับ คต เป็นมหัคคตะ ที่นี้ได้ยินคำว่า มหัคคตะ บางคนก็คิดว่ามีอรรค รวมอยู่ด้วย เพราะอรรคก็รู้สึกว่าจะ
อ.สมพร ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของภาษาบาลี อย่าคิดเอง มหัคคตะคือมหากับคต เป็นสภาพของจิตที่สงบเป็นกุศล มั่นคง ไม่ใช่เพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ อย่างเวลาที่เป็นทาน หรือศีล ซึ่งในชีวิตประจำวันก็มีกุศลจิตเกิดได้ แต่ว่าความสงบในขณะที่ให้ทานก็ดี หรือว่าวิรัติทุจริตก็ดี แม้ในขณะที่ฟังธรรม แล้วก็มีจิตที่ผ่องใส เกิดความเข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นกามาวจรกุศล เพราะเหตุว่ายังเป็นกุศลซึ่งเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังเห็น ยังได้ยิน แต่สำหรับรูปาวจรจิต ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่คิดนึกเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลอีกระดับหนึ่ง ซึ่งสงบพ้นจากการมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็มีความเข้าใจที่จะสามารถรู้ว่า ขณะใดกุศลจิตเกิด ขณะใดอกุศลจิตเกิด จึงรู้ลักษณะของนิวรณธรรมทั้ง ๕ เพราะเหตุว่าตามปกติธรรมดาของอกุศลทุกประเภทเป็นนิวรณธรรม เป็นธรรมเครื่องขัดขวางการเจริญทางฝ่ายกุศล แต่เมื่อชีวิตวันหนึ่งเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยอกุศลจิต ก็ไม่เคยเห็นเลยว่า เป็นอุปสรรคขัดขวางอะไร แต่จริงๆ แล้ว จิตขณะนั้นไม่สงบ จะมีความสงบในวันหนึ่ง ก็เพียงชั่วขณะที่จิตเป็นกุศลซึ่งสั้น และก็เล็กน้อย เพราะเหตุว่าไม่มั่นคง เช่น ทางหูได้ยินเกิดขึ้น และกุศลจิตเกิดสั้นมาก ชั่วจิต ๗ ขณะ หรือว่าทางตา กุศลจิตเกิดก็ชั่วจิต ๗ ขณะ ไม่มั่นคงที่จะให้กุศลนั้นเกิดดับสืบต่อกันยิ่งกว่านั้นได้ แต่สำหรับมหัคคตหรือมหาคต ซึ่งเป็นจิตอีกระดับหนึ่งซึ่งสูงกว่ากามาวจรจิต ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็เห็นโทษของการที่จิตหวั่นไหวไปเรื่อยๆ กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งปรากฏอยู่ตลอดทั้งวัน
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะถึง หรือว่าจะมีมหัคคตจิต มีรูปาวจรจิตได้โดยง่าย ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ แล้วก็ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่สามารถจะรู้ขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วยังรู้ว่าเมื่ออกุศลจิตเกิดแล้ว จิตจะสงบอย่างไร ยังไม่ถึงฌาน ยังไม่ถึงมหัคคตะ ยังไม่ได้เป็นอัปปนาสมาธิ เพียงแต่เริ่มที่จะค่อยๆ สงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเท่านั้นเอง จนกว่าจะถึงระดับของอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นรูปฌานจิต เพราะเหตุว่ายังไม่พ้นจากรูปจึง ชื่อว่ารูปาวจรจิต