เจริญฌานเพราะเห็นโทษอกุศล
ผู้ฟัง อย่างในโสฬสมานวกะจูฬนิทเทส คำว่าตรงหมายความว่าไม่โอนไป ไม่โน้มไป ไม่โอนไป
ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะไม่มีข้อสงสัยในเรื่องการนั่งขัดสมาธิ นั่งคู้บัลลังก็ ตั้งกายตรง ก็ไม่มีปัญหา
ผู้ฟัง อันนี้คำว่าโน้มไป เมื่อตาเห็นรูป นั่งอยู่ ตาเห็นรูป เกิดความยินดีเรียกว่าโน้มไปนั่งอยู่ในท่า
ท่านอาจารย์ เราคงจะไม่ต้องตามตัวอักษร แต่หมายความว่าเวลาที่ฟังพระธรรมเรา พยายามเข้าใจสาระ คือ อรรถของพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจะเอาตัวอักษรแต่ละตัวมาพูดวันนี้ เราก็คงอยู่ตรงนั่งคู้บัลลังก็ ตั้งกายตรง
ผู้ฟัง คือความหมายที่ว่า พอตาเห็นรูปแล้วโน้มไป เกิดความโอนไป คือความยินดี ยินดีนั้นหมายความว่าโอนไป
ท่านอาจารย์ นั่นคือตามตัวอักษร แต่ทีนี้เราจะพูดถึงเรื่อง ข้อข้องใจของแต่ละท่าน ซึ่งขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่อง ชาติของจิต แล้วก็ภูมิของจิต แล้วก็แสดงให้เห็นว่า จิตที่มีมาก นอกจากจะจัดโดยนัยของชาติ คือ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท เราสามารถที่จะจำแนกออกโดยนัยต่างๆ ใน ๘๙ ดวงจะมีคำบอกว่าเป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร เป็นวิบากเท่าไร เป็นกิริยาเท่าไร ซึ่งฟังดูแล้วจิต ๘๙ ไม่มาก ๑๒๑ ก็ไม่มาก แต่ว่าจริงๆ แล้ว นี่คือประเภทใหญ่ หมายความว่าอย่างโลภมูลจิตมี ๘ ประเภทใหญ่ๆ แต่ความละเอียดปลีกย่อย ความวิจิตรนั้นนับไม่ถ้วย หรือว่าโทสมูลจิตก็เหมือนกัน ที่ทรงแสดงไว้ว่ามี ๒ ประเภทหรือ ๒ ดวง แต่ว่าความวิจิตรก็มีมากมายนับไม่ถ้วน
นี่แสดงให้เห็นว่า การประมวลสภาพของจิตของแต่ละคนในแสนโกฏิกัปป์ซึ่งนับประมาณไม่ได้เลย แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกโดยประเภทว่า ในจิต ๘๙ ชนิดนั้น แบ่งจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ เป็นกุศลเท่าไร เป็นอกุศลเท่าไร เป็นวิบากท่าไร เป็นกิริยาเท่าไร โดยการตรัสรู้ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะกระทำได้ หรือไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ได้ เพราะว่าไม่มีใครที่จะมีปัญญาอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะเพิ่มเติมตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยได้ แล้วในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ก็จำแนกอีกนัยหนึ่ง หรือว่าอีกหลายๆ นัย แต่เราจะค่อยๆ เรียนไปทีละนัย คือ โดยชาติ คือการเกิดเป็น กุศล อกุศล วิบาก กิริยา นั่นเรื่องของชาติ ถ้าใครพูดเรื่องกุศล เรารู้ว่าพูดถึงจิตโดยชาติ ถ้าพูดถึงเรื่องโลกุตตรจิต ถ้าพูดอย่างนี้หมายความว่าพูดโดยภูมิ เพราะฉะนั้นการจำแนกจิตนอกจากจะจำแนกโดยชาติแล้ว ก็ยังจำแนกอีกนัยหนึ่ง ซึ่งเรากล่าวถึงในคราวก่อนโดยภูมิ
โดยภูมิคือระดับขั้นของจิต จิตมีหลายระดับขั้น ขั้นต่ำสุด ปกติธรรมดามีอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะในนรก หรือว่าในมนุษย์ หรือว่าที่ใดก็ตาม ที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตใดก็ตามที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะคิดจะนึกก็ไม่พ้นจากเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตนั้นเป็น กามาวจรจิต เพราะฉะนั้นทุกคนคงจะไม่ปฏิเสธว่า วันหนึ่งๆ มีแต่ระดับขั้นต่ำที่สุดของจิต คือ จิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า กามาวจร มาจากคำว่า กาม กับ อวจร ก็วนเวียนอยู่ เช้า สาย บ่าย ค่ำ ก็เป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือระดับขั้นของจิตขั้นต่ำซึ่งเป็นกามาวจรจิต สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน เห็นก็เป็นกามาวจรจิต ได้ยินก็เป็นกามาวจรจิต เทพเทวดาที่เห็นขณะใดที่เห็นขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต รูปพรหมได้ยินขณะใด จิตได้ยินของรูปพรหมก็เป็นกามาวจรจิต รวมความว่าจิตใดก็ตามที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาวจรจิต แต่ว่าจิตระดับสูงกว่านี้มี ไม่ใช่มีแต่พวกเราซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังมีจิตของผู้มีปัญญาที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เห็นว่านำมาซึ่งอกุศลทั้งปวง เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นโทษจริงๆ จึงอบรมเจริญกุศล ที่ไม่ใช่เป็นไปเพียงขั้นทานกับขั้นศีล แต่เป็นไปที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีกำลังมั่นคงขึ้น
เพราะฉะนั้น ระดับของจิตอีกระดับหนึ่งก็คือว่าจิตที่สงบจากอกุศล จนกระทั่งมีความสงบมั่นคงเป็นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ถ้ายังไม่ถึงขั้นอัปนาสมาธิซึ่งแนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ จนกระทั่งไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเลย ขณะที่เป็นอัปนาสมาธิเท่านั้นที่เป็นฌานจิต แต่ก่อนที่เป็นฌานจิตก็ต้องเป็นกามาวจรจิตนั่นเอง ที่ค่อยๆ อบรมความสงบ จนกว่าจะพ้นจากกาม แล้วก็เป็นรูปาวจรจิตซึ่งมี ๕ ขั้นด้วยกัน ชื่อว่ารูปฌาน ๕ ขั้น ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน แต่ว่าบางนัยก็เป็น ๔ คือปฐมฌาน แล้วก็รวมฌานที่ ๒ ที่ ๓ เป็นทุติยฌาน แล้วก็เป็นจตุตฌานโดยนัยของผู้ที่มีความไวที่สามารถที่จะละองค์ของฌานได้ พร้อมกัน ๒ องค์ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่ให้ทราบว่า เรื่องของฌานไม่ใช่เรื่องของคนที่ไร้ปัญญา ไม่ใช่เรื่องของคนที่ไม่รู้อะไร แล้วก็ไม่เห็นโทษของอกุศลเลย แล้วมีแต่ความอยาก หรือต้องการที่จะทำสมาธิ ซึ่งโดยลักษณะนั้นถึงฌานจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะความสงบของจิต
ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมกราบเรียนถามว่า ต้องการจะทราบว่าเรื่องของจิต ที่เราไปประพฤติปฏิบัติ ต้องการปฏิบัติจิตให้ไปถึงขั้นที่เป็นรูปฌาน หรือว่าพอสูงขึ้นไปหน่อยก็เป็นอรูปฌานเหมือนกัน ที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี้นี้ว่า จิตที่เกิดความเบื่อหน่ายเพราะว่าในชีวิตประจำวันมีแต่เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ท่านอาจารย์ เห็นโทษค่ะ
ผู้ฟัง เห็นโทษ การที่เห็นโทษอย่างนี้ แล้วไปเจริญสมาธิจนกระทั่งได้รูปฌานแล้วก็ อันนี้ที่ผมบอกว่าปฏิบัติกัน แล้วก็บอกว่า เหมือนกับว่าหลอกให้เรามีความรู้สึกว่าสบาย ทีนี้เรื่องอย่างนี้ในทางปฏิบัติจริงๆ ท่านบอกว่า ต้องมีปัญญา คืออาจารย์บอกว่าต้องมีปัญญาจริงๆ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ถูกแล้ว ความเข้าใจผิดมันก็เป็นไปหมดในเรื่องการปฏิบัติอย่างนี้ ทีนี้ในเรื่องของการที่จะปฏิบัติถูก ผู้ที่ต้องการอยากจะทราบจริงๆ อยากจะรู้ว่าปฏิบัติถูกปฏิบัติอย่างไร ที่จะให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องจริงๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาไม่ได้อยากรู้อย่างนี้ เพราะเหตุว่าผู้มีปัญญาต้องเริ่มจากพิจารณาตัวเองว่า เราเห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือเปล่า วันนี้เรามีอกุศลตั้งเท่าไร คิดดู ลืมตาขึ้นมา มีอกุศลที่ไม่รู้ตัวแล้ว เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็น หลังจากจิตเห็นดับ กุศลหรืออกุศลจิตเกิดต่อ โดยที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับเร็วมาก เสียงที่กำลังปรากฏทางหู ทุกคนก็รู้ว่าแสนสั้น แต่แม้กระนั้นก็ตาม เมื่อมีการได้ยินแล้ว เสียงยังไม่ทันดับ กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าปกติกุศลจิตไม่เกิด ต้องเป็นอกุศล โดยไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นโลภมูลจิตแล้ว หรือว่าเป็นโทสมูลจิตแล้ว หรือว่าเป็นโมหมูลจิตแล้ว
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เห็นจริงหรือยังว่า เรามีอกุศลมากแค่ไหน แล้วถ้าไม่เห็นก็ไม่เห็นโทษเลย แล้วถ้าเห็นจริงๆ อยากที่จะพ้นจากอกุศล หรือว่ามีกุศลเพิ่มขึ้นไหม นี่คือสิ่งที่ทุกคนที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อรู้ตัวว่ามีอกุศลมาก มีปัญญาที่เห็นโทษ แล้วต้องการที่จะเจริญกุศลขึ้นบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่ต้องการไปให้จิตสงบ แต่หมายความว่า เห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีวิธีใดๆ หรือว่าขณะใดที่จะสงบระงับจากอกุศลได้ เป็นกุศลด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง หรือว่าด้วยการที่มีเมตตาบ้าง หรือว่าระลึกในสิ่งที่เป็นไปในกุศลบ้าง เคยต้องการอย่างนี้ไหม หรือว่าดูโทรทัศน์สนุกๆ ดีกว่า แล้วก็ทำอะไรๆ ที่น่าเพลิดเพลินมากๆ ก็ดีกว่า ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นคนที่จะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ใช่ว่าพอได้ยินว่า รูปาวจรจิต ก็อยากจะต้องการวิธีที่ถูกต้องที่จะให้ได้ฌานจิต ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง เห็นอกุศลของตนเอง แล้วก็รู้ว่า กุศลต้องดีกว่าอกุศล
เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตจะเห็นอกุศล ผู้นั้นต้องการไหมที่จะเจริญกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะให้ไปถึงฌานจิต