กุศลให้ผลเป็นสุขอย่างเดียว
ผู้ฟัง ผมต้องเรียนขออนุญาตถามก่อนท่านผู้ฟังว่า เราฟังไปแล้ว จะเรียกอย่างไรว่า ฟังด้วยดี แล้วทำให้เกิดสติปัญญา ก็ตามแต่ หรือจะเรียกว่า เงี่ยโสตลงสดับ อะไรอย่างนี้ ที่มีแสดงเอาไว้ ฟังแล้วให้เกิดผลคือประโยชน์จริงๆ กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ ก็คือฟังแล้วให้เชื่อเรื่องเหตุ และผล เพราะเหตุว่าขณะนี้เองเราก็ทราบว่าที่เกิดมานี่ก็เป็นผลซึ่งจะต้องมีเหตุ แล้วถ้าเกิดในมนุษย์ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม แล้วในโลกนี้ก็มีสัตว์ด้วย ซึ่งคนละภูมิกับเรา เพราะฉะนั้นก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดเป็นสัตว์ แล้วทุกคนคงจะทราบว่า เหตุที่จะทำให้เกิดเป็นสัตว์ ไม่ใช่เหตุที่ดี เหมือนอย่างเหตุที่จะให้เป็นคน เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ คือภูมิที่ไม่สามารถจะเจริญสติปัญญา หรือกุศลทั้งหลายได้เต็มที่ แล้วสำหรับกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ซึ่งไม่ใช่มีแต่มนุษย์ เพราะเหตุว่ากรรมๆ หนึ่งซึ่งแต่ละคนทำ บางกรรมก็เป็นกรรมที่ประณีตมาก แล้วก็มีศรัทธาแรงกล้า ประกอบด้วยปัญญา มีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้นผลก็ต้องต่างกัน ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องเหตุ และผล ก็จะทราบได้ว่า เมื่อเหตุมีต่างกัน ผลก็ต้องต่างกันด้วย
เพราะฉะนั้นแม้ว่าเป็นสุคติภูมิก็จำแนกออกเป็นกามสุคติ ได้แก่ มนุษย์ และสวรรค์ แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประณีตกว่านั้น คือ เป็นระดับขั้นของความสงบของจิตที่มั่นคง พ้นจากความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นผลของกรรมนั้นก็ทำให้เกิดในภูมิที่เป็นรูปพรหม คือเป็นพรหมที่มีรูป แต่ว่าไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนอย่างในกามสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ระงับความยินดีพอใจ ในกามได้ แล้วก็ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีตกว่านั้น คือ ความสงบของจิตมั่นคงจนกระทั่งไม่ต้องมีรูปเป็นอารมณ์ จิตก็สงบมั่นคงได้ เป็นอรูปฌาน เพราะฉะนั้นผลก็ต้องทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่ใช่ว่ามนุษย์เราพอรู้ว่า มีภูมิอื่นๆ ก็จะไปเกิดในภูมิอื่นๆ ได้ตามใจชอบ แต่ว่าต้องเป็นไปตามกรรม
ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะตามใจที่เราต้องการได้ แต่ต้องเป็นเหตุเป็นผลของการเจริญกุศลแต่ละขั้นตอน
ทีนี้ในปัญหาของเรื่องภพภูมิ มีภพภูมิอยู่จำนวนมากที่เราศึกษามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอบายภูมิ อบายภูมิ ในความรู้สึกของคนเรากลัวในเรื่องอบายภูมิ การที่เรากลัวอบายภูมิ เราก็ต้องการอยากจะทำความดี เพื่อจะหนีอบายภูมิ ในความรู้สึกอย่างนี้ ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า ความรู้สึกที่เราอยาก ภาษาพูดใช้คำว่าอยาก แต่ว่าที่จริงก็หมายความว่า มีความตั้งใจที่จะให้พ้นจากอบายภูมิ เราจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือประพฤติตนอย่างไรถึงจะให้พ้นจากภูมิเหล่านี้
อ.สมพร เรื่องการปฏิบัติอย่างไร ว่าโดยสภาวะแล้วกุศลทั้งหมดไม่ให้เกิดในอบายภูมิ กุศลตั้งแต่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีสติปัฏฐานเป็นต้น จะเป็นกุศลอะไรก็แล้วแต่ ถ้ากุศลนำเกิดแล้ว ก็ไม่เกิดในอบายภูมิแน่นอน เราจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ต้องเกิดในสุคติภูมิ เพราะว่ากุศลให้ผลเป็นสุขอย่างเดียว