จิตรู้สึกไม่ได้
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าจำแนกเวทนาโดยนัยของเวทนา ๕ แล้ว ก็เป็นการจำแนกโดยอินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ ใคร่ขอความกรุณาท่านวิทยากรให้ความกระจ่างที่ว่าว่า เป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์นั้น เป็นอย่างไร ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ
ท่านอาจารย์ ธรรมดาทุกคนก็ต้องมีความรู้สึก ขณะนี้ก็มี คือ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือว่าเฉยๆ บ้าง แต่ว่าทุกคนรู้สึกว่า ต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ก็แสดงให้เห็นง่ายๆ ว่าเวทนามีความเป็นใหญ่ในชีวิต ทุกคนแสวงหาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปสวยๆ ทางตาเสียงทางหู แม้แต่กลิ่นหอมๆ ก็เพื่อความรู้สึกที่สบาย หรือว่าเป็นสุข คือ ถ้าเป็นทางใจก็เป็นโสมนัสเวทนา มิฉะนั้นแล้วทุกคนไม่ต้องทำอะไร คือ ไม่ต้องแสวงหาอะไรเลย ถ้าเวทนาไม่สำคัญ แต่เพราะเหตุว่าเวทนามีความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ คือหมายความว่าในขณะที่จิตรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จิตเป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่จิตไม่ใช่ความรู้สึก
นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น เป็นจิตประเภทใดก็ตาม จะต้องมีสภาพของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่กำลังรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และจิต ทุกคนก็มีอยู่ทุกขณะ เวทนาก็มีอยู่ทุกขณะ แต่ว่าไม่เคยเลยที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของความรู้สึกว่า ต่างกับสภาพของจิต เพราะว่าต่างก็เป็นอินทรีย์ คือ ใจก็เป็นมนินทรีย์ แล้วเวทนาก็เป็นสุขินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ พวกนี้แสดงให้เห็นว่า ความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง มีโดยที่ว่าถ้าจิตแล้วเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่เวทนานั้นเป็นใหญ่ในสภาพที่รู้สึกในอารมณ์
ผู้ฟัง ที่ว่าเวทนาเป็นใหญ่ในการรู้สึกอารมณ์ แล้วก็จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ แสดงว่า จิตไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้สึก หรือเสวยอารมณ์
ท่านอาจารย์ จิตรู้สึกไม่ได้
ผู้ฟัง เฉพาะรู้อารมณ์เท่านั้น
ท่านอาจารย์ จิตรู้แจ้งลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์
ผู้ฟัง รู้แจ้งอารมณ์ แต่เวทนาเสวยอารมณ์ แล้วก็รู้แจ้งอารมณ์ไปพร้อมกับจิตด้วย
ท่านอาจารย์ เวทนาไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้ง เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึก
ผู้ฟัง เฉพาะรู้สึกอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แล้วเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิต จะรู้สึกอารมณ์ด้วยก็ไม่ได้ด้วย
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่จิตขณะหนึ่งเกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท เช่น สภาพของความรู้สึกก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ขณะที่จำสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ส่วนจิตนั้นไม่ได้จำ และไม่ได้รู้สึก จิตเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันของอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น
ผู้ฟัง จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เวทนา ไม่ได้ทำหน้าที่เสวยอารมณ์เฉพาะเวทนาทำหน้าที่เสวยอารมณ์ จึงเรียกว่าเวทนาเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์
ท่านอาจารย์ เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะของตน แล้วก็มีกิจเฉพาะของตนด้วย อย่างสติเจตสิก จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากระลึกเป็นไปในกุศล เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกก็ดี หรือเจตนาเจตสิกก็ดี ไม่ใช่สภาพที่จะทำหน้าที่ของสติได้ เพราะว่าสภาพธรรมอย่างใดก็ต้องมีกิจของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ