เป็นไปตามปัจจัยว่าเวทนาใดเกิด


    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เวทนาเจตสิก เวทนา ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ แต่เวลาเมื่อประกอบกับอกุศลจิต เช่น เมื่อประกอบกับโลภเจตสิกก็เป็นโสมนัส เป็นอุเบกขาบ้าง ถ้าเกิดกับโทสมูลจิต เวทนานั้นก็เป็นโทมนัส ธรรมดาเวทนาซึ่งแปลว่า เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ เมื่อไปประกอบกับจิตที่เป็นโลภะก็ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกไปเป็น ๒ อย่าง หรือไปเกิดกับโทสะก็ทำให้ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไป เหตุที่เวทนา ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ ซึ่งเปลี่ยนความรู้สึกไปนั้น จะเป็นเพราะจิตหรือเจตสิกซึ่งเรียกว่าสัมปยุตตธรรม ทำให้เวทนาเปลี่ยนความรู้สึกไป หรืออย่างไร เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เปลี่ยน สภาพของธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่า ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้จิตประเภทใดเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกประเภทใด แต่ไม่ใช่เปลี่ยน สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยก็ดับ เมื่อดับแล้วก็มีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมอะไรเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด ทุกคนแสวงหาความสุขทางกาย ขณะที่กำลังคิดต้องการ ก็เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้นขณะเดียว ไม่ได้ไปแปรเปลี่ยนลักษณะของเวทนาอะไร เพราะเหตุว่าขณะที่เกิดความต้องการขึ้นจะต้องประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาหรือโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เวลาที่มีปัจจัยทำให้โลภะ จิตที่ต้องการ ติดข้องเกิดขึ้น จะไม่ใช่โทมนัสเวทนา ไม่ใช่ว่าไม่พอใจในอารมณ์ แต่ว่ามีความต้องการอารมณ์

    เพราะฉะนั้นขณะที่มีความต้องการอารมณ์ ต้องการด้วยความรู้สึกชนิดไหน แต่ธรรมดาแล้วเป็นอุเบกขาส่วนใหญ่ ส่วนโสมนัสเวทนาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยว่า ต้องเป็นวัตถุที่ประณีต หรือว่าเป็นอารมณ์ที่ประณีตเป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้โสมนัสเวทนาเกิด เราก็พยายามให้โสมนัสเวทนาเกิดทั้งวัน แม้แต่ความรู้สึกก็เป็นไปตามปัจจัย ว่าถ้าขณะนั้นประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจยิ่ง โสมนัสเวทนาก็เกิด ยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ แต่ถ้าอารมณ์นั้นไม่ประณีต อย่างไรๆ ความรู้สึกก็ต้องเป็นเพียงอุเบกขา จะเป็นโสมนัสไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครไปแปรเปลี่ยนลักษณะของเวทนา แต่ว่า ทุกขณะที่เกิดขึ้น จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน และก็ดับพร้อมกันทีละขณะจิต ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น


    หมายเลข 9005
    22 ส.ค. 2567