ทำไมอุเบกขาเวทนารู้ได้ยาก ๒



    ผู้ฟัง เป็นเวทนาที่ละเอียด การที่สังเกตความต่างกันของลักษณะของเวทนา อันนี้เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ โดยมากรู้จักชื่อ เพราะฉะนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาที่คุณกฤษณาถามเมื่อกี้นี้ว่า ทำไมอุเบกขาเวทนารู้ยาก ความจริงแล้วทั้งหมด เรารู้โดยชื่อ เช่น เวลาที่เจ็บ เราก็บอกว่าทุกขเวทนา แต่เราไม่ได้รู้เลยว่า นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเพียงเป็นความรู้สึก

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้อุเบกขาเวทนาก็ดี หรือว่าโสมนัสเวทนาก็ดี โทมนัสเวทนาก็ดี เราจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมก่อน ถ้าเราไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม เราก็จะคงรู้จักโดยชื่อ เช่น ถ้ามีคนถามว่า วันนี้สบายดีหรือคะ หรืออะไรอย่างนี้ เราก็บอกว่าเรื่อยๆ เฉยๆ แสดงว่าขณะนั้นเรารู้ลักษณะของสภาพความรู้สึก แต่ไม่รู้ว่า ลักษณะจริงๆ ในขณะที่สภาพนั้นกำลังเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เราเพียงแต่สรุปรวมว่า วันนี้ก็เฉยๆ ไม่มีอะไร สบายดี สบายดีคือยังไม่เป็นไข้ เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกจริงๆ ที่ละเอียดไปทุกขณะ ที่เป็นลักษณะของสภาพธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เราจะยังคงคิดรวมๆ แล้วก็ตอบรวมๆ แม้แต่โลภะ อย่างเวลาที่เห็นอะไรสวย แล้วก็ชอบ ทุกคนก็บอกพร้อมกันว่าโลภะ เห็นดอกไม้สวยๆ ทุกคนบอกโลภะ แต่ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า รู้ลักษณะของสภาพที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏแต่ว่าเมื่อเรียนมาก็รู้ว่า ขณะใดที่เกิดความชอบใจก็เป็นโลภะ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้จริงๆ ว่าโลภะที่กล่าวไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่สภาพที่เห็น เพราะฉะนั้นไม่มีการแยกว่า โลภะจริงๆ นั้นไม่ใช่ขณะที่เห็น แต่เป็นสภาพลักษณะอาการที่ติดข้อง

    เพราะฉะนั้นก็ยังคงรวมสภาพธรรม และรวมเวทนาในวันหนึ่งๆ ก็ทำให้เราบอกได้คร่าวๆ ว่า ก็เฉยๆ ก็สบายดี แต่ว่าเวลาที่รู้ลักษณะที่เป็นเวทนาจริงๆ ก็จะต้องเริ่มรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิด โดยที่ว่าไม่ได้เจาะจงว่า จะรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนาซึ่งกล่าวว่ารู้ยาก แต่ความจริงสภาพของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม มี แต่ว่าเนื่องจากเพียงฟัง แล้วยังไม่มีปัจจัยพอที่จะให้สติระลึก แล้วเมื่อสติระลึกแล้วยังจะต้องอาศัยการอบรมจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยแยกลักษณะแต่ละลักษณะออก เพราะเหตุว่าลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึก ไม่ใช่ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง จะต้องเริ่มที่รู้จักลักษณะของนามธรรมก่อน ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกกับรูปธรรม แล้วที่กล่าวเมื่อกี้ว่า จะยุ่งยากลำบากเรื่องชื่อ คือว่า ถ้าเพียงฟังเท่านั้นก็ยุ่ง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเข้าใจสภาพธรรมแล้วเติมชื่อที่เราได้ยินได้ฟัง เราก็จะรู้จักสภาพธรรมนั้นค่อยๆ ชัดเจนขึ้นทีละน้อย อย่างเช่นความรู้สึกเฉยๆ ทุกวัน พอเราเรียนมาเรื่องอุเบกขาเวทนา เราก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพของอุเบกขาเวทนา โดยชื่อก่อน แต่ว่ายังไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นอุเบกขาที่เป็นเวทนา ที่เป็นนามธรรมจริงๆ แต่รู้ว่ามี แล้วขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครดีใจ ตอนนี้ก็รู้จักชื่อเป็นภาษาบาลีว่า โสมนัสเวทนา เราก็สามารถที่ใช้ชื่อที่เราได้ยิน แม้ว่ายังไม่ได้รู้จักตัวจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรม แต่ค่อยๆ คุ้น แล้วก็จะทำให้ค่อยๆ จำชื่อ แล้วต่อไปเราก็จะรู้ว่าที่เรากล่าวว่าโสมนัสเวทนา หมายความถึงขณะที่เป็นอกุศลจิตหรือว่าเป็นกุศลจิต แล้วก็จะรู้ได้ว่าโสมนัสเวทนาเกิดได้ทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นก็เป็นการเข้าใจธรรมแล้วก็ศึกษาธรรม แล้วก็พิสูจน์ธรรม แล้วก็เพิ่มชื่อ ซึ่งฟังดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงสามารถที่จะค่อยๆ จำไป พร้อมกับขณะที่สภาพความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง ในเวลานี้ที่ยังไม่รู้ลักษณะสภาพตัวจริงของสภาพความรู้สึก สักครู่อาจารย์บอกว่า ต้องค่อยๆ คุ้นกับมัน แสดงว่าจะต้องค่อยๆ สังเกตลักษณะของเขาไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วคนที่ศึกษาใหม่ๆ ก็จะติดชื่อก่อน หมายความว่ามีชื่อเพิ่มขึ้นแล้วชื่อที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นภาษาบาลีซึ่งสมควรที่จะจำ สมควรที่จะใช้ด้วยให้ถูกต้องมิฉะนั้นแล้วถ้าเราใช้ภาษาไทยจะสับสน แล้วก็จะไม่เข้าใจได้ละเอียด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดภาษาธรรม เราก็จะใช้คำว่า โสมนัส หรือว่า โทมนัส หรืออุเบกขา เพราะว่าเรากำลังนึกถึงเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้นต่อไปเราก็อาจจะรู้สึก แล้วก็จำคำนี้ได้ คือเป็นการที่ค่อยๆ คุ้นทีละน้อยจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วสามารถที่จะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรม โดยที่ไม่ต้องเจาะจงว่า จะรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา เพราะเหตุว่าแล้วแต่สติที่จะเกิด

    ผู้ฟัง ค่อยๆ สังเกตโดยไม่ต้องเจาะจงว่าจะเป็นเวทนาไหน

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ระลึกได้ แล้วก็มีปัจจัยที่จะให้เขาเกิดระลึกขึ้นมาได้ อย่างที่ว่าไม่เคยได้ยินคำว่า อุเบกขา แล้วก็เมื่อทราบว่าอุเบกขาเป็นเวทนา อุเบกขาก็เป็นคำใหม่ เวทนาก็เป็นคำใหม่ แต่ให้ทราบว่า เวทนาก็คือความรู้สึก อุเบกขาก็คือเฉยๆ เพราะฉะนั้นความรู้สึกเฉยๆ เราอาจจะเคยพูดภาษาไทย แต่พอนึกเรื่องธรรมขึ้นมา เราก็อาจจะนึกขึ้นมาว่า เป็นอุเบกขาเวทนา ก็ทำให้จำไม่ยาก


    หมายเลข 9007
    21 ส.ค. 2567