ยึดมั่นแต่ไม่ต้องการ


    ผู้ฟัง ทีนี้ในชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ สุขเวทนาทุกขเวทนา จะเกิดมากหรือน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องของวิบากทางกาย แต่สำหรับโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นมากมาย แล้วเราก็ติดกับมันมากด้วย เช่นเดียวกันอุเบกขาเวทนาก็เกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับโทมนัสเวทนาเป็นเวทนาที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แล้วเราก็ไม่ได้หลงติดกับโทมนัสเวทนาเหมือนกับที่ติดโสมนัสเวทนา เพราะว่าเป็นเวทนาที่ไม่น่าพอใจ ไม่น่าต้องการ แต่บางครั้งทำไมโทมนัสเวทนาก็เกิดได้บ่อยๆ เหมือนกันในวันหนึ่งๆ อย่างเช่นเราคิดถึงเรื่องเศร้า เรื่องความพลัดพราก เรื่องความผิดหวัง เรื่องอะไรต่างๆ มาแล้วโทมนัสเวทนาก็มาแล้ว ทำไมถึงเกิดได้บ่อยๆ เรียนเชิญอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ อีกนิดหนึ่งนะคะ คือไม่ใช่เราไม่ติดในโทมนัสเวทนา เรายึดมั่นในโทมนัสเวทนา แต่ว่าเราไม่ต้องการ

    ผู้ฟัง ยึดมั่นแต่ไม่ต้องการ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ หมายความว่าโทมนัสเวทนาเกิดก็เป็นเราเป็นทุกข์เป็นร้อนเหลือเกิน

    ผู้ฟัง คือยึดถือว่าเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความยึดมั่นมีหลายอย่าง แม้ว่าเราไม่ต้องการ แต่ในขณะที่ไม่ต้องการในเวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด ใครเป็นทุกข์ก็คือตัวเรา เพราะฉะนั้นก็มีความยึดถือในโทมนัสเวทนาว่า เป็นเรา แม้ว่าไม่ต้องการ

    ผู้ฟัง แล้วทำไมมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาเกิดได้บ่อยในบางครั้ง

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ หมายความว่าเรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องตามการสะสม บางคนจะสังเกตได้ว่า คนนี้ช่างรื่นเริงได้ทั้งวัน หัวเราะตลอด แล้วก็หัวเราะ คนอื่นอาจจะเพียงยิ้ม แต่เขาจะหัวเราะยาว หรือว่าหัวเราะมาก หรือว่าบางคนก็ร้องเพลงเช้าสายบ่ายเย็น ขณะนั้นก็มีความสุข จึงได้ร้องเพลง คิดว่าไม่มีใครร้องเพลงแล้วก็ทุกข์ ร้องไห้ไปร้องเพลงไป หรืออะไรอย่างนั้น แต่แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ บางคนก็เป็นโสมนัสมาก บางคนก็มีเรื่องหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ หาความสุขยากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่อาจจะมีทรัพย์สินเงินทอง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ใจก็ยังเป็นทุกข์ได้ แล้วบางคนก็เฉยๆ ใครจะทำอะไรก็ไม่เดือดร้อนไปหมด นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของการสะสมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง เกี่ยวกันการสะสม ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สมพรจะมีความคิดเห็นอะไร ข้อคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับโทมนัสเวทนา

    อ.สมพร เรื่องเวทนาก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าท่านกล่าวว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ทีนี้ก็ลองพิจารณาดูว่า เวทนาอะไรที่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด หรือเวทนาทั้งหมดทั้ง ๕ อย่าง มีแง่คิดอย่างนี้ เพราะว่าเราก็ต้องพิจารณาดูสภาวธรรมเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ตัณหาจะเกิดก็อาศัยเวทนา เมื่อตัณหาเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิด นี่เพื่อจะให้แจ่มแจ้ง เพราะว่าบางคนก็ไม่เข้าใจว่าเวทนาอะไร ๕ อย่าง หรือทั้ง ๕ อย่างเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด เพราะเวทนาเรายึดว่าเป็นคนเป็นสัตว์ก็มีบางครั้ง แต่ถ้าเราฉลาดแล้วก็ไม่เห็นเป็นคนเป็นสัตว์ ถึงอย่างนั้นก็มีปัจจัย เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ก็ลองพิจารณา ดูว่าเวทนาทั้ง ๕ หรือว่าเวทนาอันเดียวที่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด

    คุณอดิศักดิ์ กลับมาที่ปัญหาที่ท่านอาจารย์สมพรทิ้งไว้เมื่อกี้ เวทนาที่เรายึดเป็นตัณหา

    ผู้ฟัง เวทนาอะไรเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด

    คุณอดิศักดิ์ คำตอบก็คือว่าทั้งหมด แต่ทีนี้ถ้าดูผิวๆ เผินๆ แล้ว ก็นึกว่าเราไม่ชอบทุกขเวทนา หรือโทมนัสเวทนา คงจะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แต่คำตอบที่ถูกมันต้องทุกอัน เพราะว่าที่ยึด มันยึดตรงไหน รู้ไหม ยึดตรงที่ว่าเป็นเรา เป็นเราโกรธ เป็นเราโทมนัส เป็นเราเสียใจ ทีนี้ท่านอาจารย์สมพรกำลังจะขยายความ

    อ.สมพร พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้ใหญ่ๆ ว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด แล้วทีนี้เวทนาเราก็คิดได้ โดยการศึกษาเล่าเรียน ว่ามีถึง ๕ อย่าง หรือ ๓ อย่าง เวทนาบางอย่างดูเหมือนว่า ไม่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด เช่น โทมนัสเวทนา ความเสียอกเสียใจ ไม่เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ก็เพราะว่าเรายึดว่า เวทนาเป็นคนเป็นสัตว์ เรายึดอยู่ เราไม่ชอบเวทนาอันนี้ เช่น ได้ยินเสียงไม่เพราะ เราไม่ชอบ แต่เราก็ยังต้องแสวงหาสิ่งที่ชอบ ดังนั้นจึงว่าเวทนาก็ถูกตัณหาครอบงำหมด จะเป็นทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา หรือเวทนาทั้ง ๕ ก็ตาม อยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา เมื่อเวทนาเกิดก็เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้น เพราะว่าอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา มันอาจจะกลับกันได้ เพราะตัณหาเป็นปัจจัยให้สภาวธรรมทั้งหมดเกิดขึ้น แต่เวทนาก็เป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ


    หมายเลข 9008
    21 ส.ค. 2567