จิตที่มีโทษมาก


    ผู้ฟัง ก็จะขออาจารย์สมพรโดยพยัญชนะก่อน ทิฏฐิเจตสิก

    อ.สมพร ทิฏฐิเจตสิก อันนี้ในพระอภิธรรม เราก็มุ่งถึงความเห็นผิด คือ เราต้องแยกแยะว่า ในพระอภิธรรมเป็นปรมัตถ์ล้วนๆ กล่าวถึงความเห็นผิดอย่างเดียว คำว่า ทิฏฐิคต ทิฏฐิคตสัมปยุต์ มุ่งถึงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ทิฏฐิเจตสิกนะคะ

    อ.สมพร เจตสิกก็คือทิฏฐิอันนั้นแหละ ทิฏฐิเจตสิกเมื่อเกิดกับโลภมูลจิต ท่านก็เรียกว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ก็คือทิฏฐิเจตสิกนั้นแหละ

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่องของอรรถ ความหมายของทิฏฐิเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิก็เป็นความเห็น ซึ่งแต่ละคนก็คงจะมี แต่ว่าไม่ใช่ในชีวิตประจำวัน อย่างวันนี้ถ้าถามว่า มีใครมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ก็คงจะไม่มีความเห็นเรื่องโลกเที่ยงโลกไม่เที่ยง หรือตายแล้วเกิดไหม

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าความเห็น ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรม เกิดขึ้นเมื่อไร ขณะนั้นจิตก็ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่ว่าถ้าในขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตประเภทที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าที่เรามาศึกษาพระธรรมก็เพื่อที่จะมาละจิตดวงนี้ คือจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นให้เห็นความสำคัญของอกุศลจิตดวงที่ ๑ เวลาที่พูดถึงกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าจิตแบ่งโดยภูมิ โดยอะไร เราก็ได้กล่าวถึงแล้ว ตอนนี้เรากำลังถึงจิตซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะว่าขณะนี้ทุกคนก็ไม่มีใครที่ได้ฌาน จิตระดับฌานจิตหรือระดับที่สูงกว่าจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พวกนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าในชีวิตประจำวัน การที่เรากล่าวถึงจิตดวงที่ ๑ จะใช้คำว่า จิตดวงที่ ๑ ของกามาวจรจิตก็ได้ คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด นี่แสดงให้เห็นความสำคัญว่า ในพระพุทธศาสนา คนที่ศึกษาธรรมเพื่อดับจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นจิตซึ่งมีโทษมาก

    เพราะฉะนั้นทุกคนก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ มีความเห็นผิดอย่างไรบ้าง เสียก่อน เพราะว่าถ้าไม่เห็นความสำคัญของจิตดวงนี้ว่า ทำไมจึงเป็นจิตที่มีโทษมากแล้วก็ผู้ที่จะดับจิตดวงนี้ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบัน ก่อนที่จะดับกิเลสอื่นทั้งหมด จะต้องดับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด หรือจะกล่าวว่า ดับทิฏฐิ ความเห็นผิดก็ได้ ซึ่งทุกคนในขณะนี้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล มีความเป็นผิด แต่ไม่ค่อยจะรู้ตัว เพราะบางทีก็เข้าใจว่า ตัวเองก็ไม่ได้มีความเห็นผิดอะไรเลย แต่ให้ทราบว่าความเห็นผิดมีตั้งแต่อย่างหยาบๆ ที่เรามองเห็น จนกระทั่งอย่างละเอียด แม้แต่พุทธบริษัทซึ่งถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบจริงๆ ก็จะไม่รู้ตัวเลยว่า เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นอยากจะให้กล่าวถึงเรื่องของความเห็นผิดในลักษณะซึ่งมีในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นจิตดวงนี้

    ผู้ฟัง ก็ดวงที่ ๑ ดวงที่ ๑ ก็คือเมื่อกี้นี้ อาจารย์สมพรท่านพูดแล้วว่า สัมปยุตต์กับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ จิตเราติดข้องแล้ว ติดข้องด้วยความเห็นผิดด้วย แล้วก็ไม่ต้องอาศัยการชักจูง และมีความยินดี ขอประทานโทษ โสมนัสสหคตัง

    ท่านอาจารย์ แต่ตอนนี้เรากำลังเน้นเรื่องของทิฏฐิ ยังไม่ประกอบด้วยอะไรทั้งนั้น เอาความเห็นผิดซึ่งเราคิดว่า ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่ว่าถ้าไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แล้วต้องเห็นผิด คือเป็นเรื่องที่เราจะต้องเป็นผู้ตรง แล้วก็ทำความเห็นให้ตรงด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิก แล้วก็ความเห็นถูกก็มีจริง แต่ระหว่างความเห็น ๒ อย่าง ความเห็นของเราจะโน้มเอียงไปในทางไหน เพราะเหตุว่าเรายังไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นผู้ตรง เห็นผิดคือเห็นผิด เห็นถูกคือเห็นถูก

    ผู้ฟัง เห็นผิดในชีวิตประจำวันเฉยๆ จะต้องมีติดข้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นผิด

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันเราไม่รู้ ถ้าคนไม่ได้มาเขานั่งรับรู้ในที่นี้จะไม่รู้เลยว่า อันนั้นเห็นผิด เราเห็นผิดในชีวิตประจำวัน ที่เรารู้สึกว่า เอนี้มันถูก แล้วทำไมว่าผิด

    ผู้ฟัง เห็นผิด ผมลุกไปหยิบน้ำที่อาจารย์สุรีย์เดี๋ยวนี้เลยมาทาน เพราะผมอยากทาน

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เห็นผิดอะไร ในการที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องความเห็นผิด แล้วยังไม่แน่ใจว่า เขาจะถูกหรือจะผิดบ้างไหม ที่เขาคิดอย่างนั้น หรือทำอย่างนั้น เพราะว่าเวลานี้มีความเห็นผิดมาก เท่าที่เคยได้ฟังเร็วๆ นี้ ก็มีคนมาชักชวนบอกว่า เคยได้ยินลัทธิ ศาสนาอันนี้ไหม เป็นลัทธิศาสนาซึ่งมาจากพระสูตรหนึ่งก่อนพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ๘ ปี ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจะต้องตื่นเต้น ก็ถามเหตุผลว่า แล้วพระสูตรอื่นๆ ล่ะ แล้วธรรมอื่นๆ ที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ ทำไมถึงจะต้องมาตื่นเต้นกับพระสูตรซึ่งทรงแสดงก่อนปรินิพพาน ๘ พรรษา คำตอบก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า อะไรก็ตามซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง หรือว่าพอที่จะให้เข้าใจได้อะไรได้ นั่นคือความเห็นผิด อย่าเพิ่งไปตามใครง่ายๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็ได้ทราบว่ามี คนที่ตื่นเต้นในคำสอนนี้มาก


    หมายเลข 9011
    21 ส.ค. 2567