ต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย


    ผู้ฟัง ทีนี้ย้อนกลับมาเรื่องสักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส โลกเที่ยง ไม่เที่ยง โลกสูญ นั้นมันไกลเกิดไป เอาใกล้ๆ สีลัพพตปรามาส รู้สึกว่าบางครั้งก็มี เพราะบางครั้งจะนั่งนิ่งๆ จะเจริญสติอย่างนี้ พอจะเจริญทีไรมันก็ผิดทุกที นี้คือสัพพตปรามาสใช่ไหม ทีนี้สักกายทิฏฐิ ผมตื่นมาก็เหมือนเป็นปกติเลย เห็นขัน เห็นสบู่ เห็นอะไร ก็เป็นสิ่งนั้นไปหมด ไม่เคยเป็นรูปารมณ์ ไม่เคยเป็นธาตุดิน อะไรอย่างนี้ เป็นขัน เป็นสบู่ เป็นแก้วน้ำ เป็นจริงเป็นจัง เป็นเรื่องเป็นราว เป็นสักกายทิฏฐิหรือยังครับ

    ท่านอาจารย์ ที่พูดเมื่อกี้ รู้สึกมีจิตที่เป็นอกุศลหลายประเภท ซึ่งอาศัยความละเอียดจะเข้าใจได้ อย่างเวลาที่เกิดความสงสัย เป็นโมหมูลจิต ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อย่าลืมนะคะ เพราะเมื่อกี้รู้สึกจะปนกันไปหมดเลย ความเห็นผิดก็ปนกับความสงสัย แต่ให้ทราบว่า เป็นจิตแต่ละประเภท และต้องเข้าใจด้วยว่าขณะที่สงสัยนั้นไม่ใช่ความเห็นผิด ไม่มีความเห็นใดๆ เกิดขณะที่สงสัย เวลาที่มีความเห็นผิดก็ไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเจตสิก ๒ ดวงนี้จะไม่เกิดร่วมกัน

    นี่แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของจิต แล้วก็มีอกุศลหลายประเภท แต่ให้ทราบว่า การเห็นผิด เห็นผิดจากความเป็นจริง แม้ว่าเราจะได้ฟังมาก็ตามว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เข้าใจขณะนั้นต้องเป็นความเห็นถูก แล้วเวลาที่ชีวิตประจำวันของเราก็เต็มไปด้วยโลภะ ตื่นขึ้นมาก็ชอบ อยากจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ไม่มีความเห็นใดๆ สักนิดมาเกิดร่วมด้วย อย่าลืมว่า ขณะนั้นเป็นความเห็นหรือไม่ใช่ความเห็นอยู่ตรงนี้ คือ โลภะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งเราสามารถจะพิจารณาจิตใจของเราได้ ว่าเราอยากรับประทานน้ำ ไม่ได้มีความเห็นอะไรเกิดขึ้นมาเลย แล้วเราก็อยากต้องหลายอย่างตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเต็มไปด้วยอยากทั้งนั้น ก็ไม่ได้มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตซึ่งมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ต้องใช้คำว่าเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง คือคำว่าสักกายทิฏฐิ ไม่เป็นตัวเป็นตน ผมรู้สึกว่าเป็นความเห็นที่ค่อนข้างจะรุนแรงในลักษณะที่ว่า เห็นอะไรแล้ว จะต้องไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ในลักษณะเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ นี่เป็นเรื่องที่ว่าพระโสดาบันบุคคลดับโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่ยังมีโลภะ เพราะฉะนั้นชีวิตของพระโสดาบันประจำวัน ท่านก็มีโลภะเหมือนปุถุชน แต่เพราะเหตุว่าท่านได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ประจักษ์การเกิดดับรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีความสงสัย ดับวิจิกิจฉาเจตสิกด้วย แต่โลภะท่านยังมี เพราะฉะนั้นระหว่างคนที่ไม่ใช่พระโสดาบัน แล้วก็มีชีวิตประจำวันซึ่งมีโลภะเหมือนกับพระโสดาบัน โลภะของคนที่ไม่ใช่พระโสดาบันกับโลภะของผู้ที่เป็นพระโสดาบันไม่ต่างกัน โดยประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่เกิดความเห็นผิด อย่าลืมว่าเกิด ไมใช่มี เกิดความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด


    หมายเลข 9014
    21 ส.ค. 2567