มานะไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ
ผู้ฟัง ทิฏฐิคตสัมปยุต ที่ว่าจิตที่ประกอบด้วยทิฏฐิเจตสิกนั้น คือ จิตที่จะมีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นจิตที่ติดข้องยึดมั่นในความเห็นนั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีความเห็นอย่างนั้น ทีนี้จิตที่มีความเห็นผิดก็เกิดร่วมกับเจตสิก คือ ทิฏฐิเจตสิก เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่โลภมูลจิตเกิดแล้ว ทิฏฐิเจตสิกจะต้องเกิดร่วมด้วยเสมอไป เพราะว่ามีโลภมูลจิตอยู่เพียง ๔ ประเภทเท่านั้นที่ทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมด้วยได้
ทีนี้คราวก่อนก็มีปัญหาอยู่ว่า คือ ท่านผู้ร่วมสนทนาท่านหนึ่ง ก็มีปัญหาหลังจากสนทนาเสร็จแล้วว่าโลภมูลจิตนี้มีทิฏฐิเจตสิกประกอบร่วมด้วย แล้วก็ยังมีโลภเจตสิกบางประเภทที่ มานเจตสิกประกอบร่วมด้วย ท่านผู้นั้นก็สงสัยว่าทิฏฐิเจตสิกกับมานเจตสิกจะเกิดประกอบพร้อมกันได้ไหมในโลภมูลจิตในขณะเดียวกัน รู้สึกจะเป็นปัญหาของคุณวีระ ถ้าคุณวีระจะมีอะไรถามต่อก็เรียนเชิญ
ผู้ฟัง ในการสนทนาคราวที่แล้ว หลังจากที่ได้สนทนาเสร็จเรียบร้อย ผมก็ยังมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องว่าในกรณีที่โลภมูลจิตที่มีทิฏฐิคตวิปปยุตต์ต์แล้ว โอกาสที่มานะเจตสิกจะเกิดขึ้นก็มีอยู่ ผมก็ยกตัวอย่าง ผมอยากทานน้ำท่านอาจารย์สุรีย์ แค่นี้จบ ตัวอย่างก็แค่นี้ ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวกับเรื่องทิฏฐิคตสัมปยุตต์เลยในขณะนั้น ให้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ผมก็ยกว่าอยากจะทานน้ำของท่านอาจารย์สุรีย์แล้วนี้จบ ทีนี้ในจุดนี้ก็คือว่า นี่ใช่ไหม เป็นโลภมูลจิตดวงที่มีทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แล้วก็ไม่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย อันนี้คือคำถามของผม
ท่านอาจารย์ คือคงจะต้องการตัวอย่างของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แล้วก็โลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แล้วก็โลภมูลจิตที่มีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าโลภมูลจิตก็แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ถ้าโลภะที่มีทิฏฐิเกิดด้วยขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เราแบ่งเป็น ๒ พวก ว่าประเภทของโลภะที่ต่างกันก็คือว่า บางขณะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย บางขณะไม่มี ยังไม่ต้องพูดถึงมานะ เอาเพียงแค่โลภมูลจิตก่อน ว่าธรรมดาเวลาที่เราชอบอะไร หรือว่ากำลังสนุกสนาน ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะเกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับสัตว์บุคคล หรือธรรมต่างๆ ขณะนั้นเป็นแต่เพียงความเพลิดเพลินพอใจ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่มีทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ขณะใดที่มีความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ขณะนั้นเป็นความเห็นที่เกิดขึ้น จิตขณะนั้นที่มีความเห็นเกิดขึ้น ต้องเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต เพราะเหตุว่ามีความติดข้องในความเห็นนั้น มีความพอใจในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์
นี่คือความต่างกันของโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยกับไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อันนี้คงไม่มีปัญหา ใช่ไหมคะ
ทีนี้เวลาที่มีมานะเกิดร่วมด้วย ให้ทราบว่า ในขณะใดที่มีมานะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นเลย เป็นความสำคัญตนเท่านั้นในขณะนั้น ถ้าบางคนจะบอกว่า น่าจะมีมานะเกิดร่วมด้วยในขณะที่มีความเห็น ดูเหมือนกับว่ามานะจะเกิดร่วมกับทิฏฐิ แต่ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ถ้าใครเข้าใจว่า มานะจะเกิดร่วมกับทิฏฐิ ก็ให้เห็นความต่างกันในขณะนี้ว่า จิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยิน แต่ดูเสมือนว่าทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความรู้สึกว่า ขณะที่เป็นมานะจะมีความเห็นผิด ขณะที่มีความเห็นผิดก็มีมานะเกิดร่วมด้วย ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต ทำให้ดูเหมือนว่ามีมานะเกิดในขณะที่มีความเห็นผิด เช่นเดียวกับขณะที่กำลังเห็น ก็ดูเหมือนว่ามีเห็นด้วยมีได้ยินด้วย แต่ความจริงแล้วก็เป็นจิตคนละประเภท แล้วก็ไม่เกิดพร้อมกัน
เพราะฉะนั้นการดับกิเลสอย่างพระโสดาบันดับทิฏฐิ ก็เท่ากับดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทั้ง ๔ ดวง หมดเลยทั้ง ๔ ดวง เหลือเพียงโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ ดวงเท่านั้น ซึ่งก็จะมีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้
ผู้ฟัง ครับเข้าใจครับ มีคำถามอีกคำถามหนึ่งที่ว่า คนเขาพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่า สมมติว่ากระผมเองมีทั้งทิฏฐิ ทั้งมานะ ผมมีทั้งทิฏฐิ ทั้งมานะ เพราะผมเป็นผู้ที่มีอำนาจ เป็นผู้ที่มีอะไรก็แล้วแต่ แสดงความเป็นทิฏฐิ แล้วมานะออกมาเลย อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องใช่ไหมครับ เพราะว่าทิฏฐินั้นเกิดไม่ได้แน่นอน ตามที่ท่านอาจารย์กล่าว
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย ใช่ไหมคะ เป็นจิตดวงเดียวกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน คนละดวง
ท่านอาจารย์ ค่ะ