สักกายทิฏฐิ - ศีลพรตปรามาส ๒


    ผู้ฟัง คือเมื่อกี้พูดถึงเรื่องปล่อยนก มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ เคยเห็นคนปล่อยนกเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือคะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ที่ปล่อยนก ผู้ที่ปล่อยนกผิดธรรมข้อไหน โดยคิดว่าปล่อยไปแล้วตัวเองจะได้พ้นเคราะห์

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดเป็นเรื่องๆ แล้วก็เป็นแต่ละเหตุการณ์ด้วย ถ้าเห็นคนปล่อยนกแล้วเราไปบอกว่าคนนี้เห็นผิด ไม่ได้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง อันนั้นเป็นสีลัพพตปรามาสหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ คนใจบุญเห็นนกถูกขังหรืออะไรก็แล้วแต่ หรือทำอะไรก็แล้วแต่แล้วช่วย อาจจะปล่อยก็ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องแยก แยกเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่ว่ารวมเห็นคนปล่อยนก

    ผู้ฟัง ประเด็นอยู่ตรงนี้ขอบเขต ผมพูดถึงคำว่าขอบเขต คำว่ามิจฉาทิฏฐิกับสีลัพพตปรามาส

    ท่านอาจารย์ คนที่ชอบไปตลาด แล้วก็ซื้อปลา ปลาไหล เต่า อะไรต่ออะไรพวกนี้ไปปล่อย แล้วเราจะบอกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ไหม ในเมื่อเขาปล่อยปลา เพราะฉะนั้นเพียงการปล่อย เราไม่สามารถจะบอกได้ ใช่ไหมคะ เมื่อพูดถึงเรื่องสะเดาะเคราะห์ ต้องคิดเลยว่า อะไรคือเหตุที่จะให้เกิดเคราะห์ อกุศลกรรมทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการที่เราทำสิ่งที่ไม่ดีมาแล้ว แล้วก็จะสะเดาะเคราะห์ออกไปโดยวิธีง่ายๆ ดอกไม้ ๙ สี นก ๙ ตัว หรืออะไรๆ อย่างนี้ เป็นไปได้หรือในการที่เราจะพ้นเคราะห์โดยวิธีนั้น แล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่เข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ใช่ไหมคะ

    ทีนี้พูดถึงเรื่องทิฏฐิกับสีลัพพตปรามาส ทิฏฐิเป็นความเห็น ซึ่งยังไม่ต้องมีการกระทำใดๆ เลยได้ แล้วความเห็นจะถึงเป็นอุปาทานก็ได้ เป็นทิฏฐุปาทาน คือยึดมั่นในความเห็นนั้น แต่ยังไม่มีการกระทำอะไรเลย แต่ยังยึดมั่นในความเห็นนั้น แต่บางคนไม่ใช่เพียงแต่มีความยึดมั่นในความเห็น ยังมีการกระทำทางกายทางวาจาด้วยความเห็นผิดนั้น ขณะใดที่มีการประพฤติปฏิบัติด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส สำหรับในเรื่องการอบรมเจริญปัญญาก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่เข้าใจหนทางที่ถูก คิดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าสติระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น นี่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส แต่ถ้าคิดว่าต้องไปทำอย่างอื่น ต้องไปเข้าไปออก หรือไปกราบไปไหว้ ไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าความเห็นผิดมี แต่ในความเห็นผิดมีการกระทำอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงความเห็น เพราะว่าบางคนก็เจ้าความเห็น มีความเห็นเยอะแยะผิดทั้งนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพียงแต่มีความเห็น ชอบเห็น ชอบคิด แล้วก็ยึดติดในความคิดความเห็นนั้น ก็เป็นการยึดมั่นในความเห็นผิด แต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าคนที่แม้ว่าจะได้ฟังธรรมแล้ว แต่ว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียดในเรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่าเราพูดกันมามากในเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นสัจธรรม แต่ ถ้าไม่มีสัจญาณ คือ ความเข้าใจถ่องแท้มั่นคงในอริยสัจ ๔ ว่าหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้สภาพธรรมว่ากำลังปรากฏคืออย่างไร

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุให้การปฏิบัติที่จะรู้สภาพธรรมผิดขณะนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส สรุปว่าอะไรก็ตามซึ่งเป็นการประพฤติผิด ขณะนั้นเป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่าเป็นศีล เป็นพรต เป็นการประพฤติปฏิบัติด้วย


    หมายเลข 9018
    21 ส.ค. 2567