ช่วยอย่างไรไม่ให้เขาเห็นผิด
ผู้ฟัง ดิฉันก็ใคร่จะขอกลับไปทบทวน และเรียนถาม คือว่าเหตุที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ประการที่๑ ก็บอกว่า มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย ทีนี้ที่ว่ามีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย แสดงว่าจะต้องมีการสะสมการเห็นผิดอยู่เป็นเนื่องนิจมาแต่อดีต เนิ่นนานมาแล้วจนถึงปัจจุบันนี้ การสะสมความเห็นผิดมาก็เป็นไปโดยความไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าความเห็นความเชื่อนั้นเป็นความเห็นผิด ทีนี้ถ้าหากว่าตัวเราเองมีความเห็นผิด หรือว่าบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงญาติพี่น้องก็ตาม ที่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย เราจะมีความแนวทางอย่างไรที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมความเห็นผิด มานั้นให้มีความเห็นถูก เพราะว่าได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่รู้ตัวที่ว่าตัวเองมีความเห็นผิด ขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียว คือ พระธรรมเท่านั้น ไม่ทราบจะช่วยอย่างไร อย่างอื่น
ผู้ฟัง พระธรรม ทีนี้ถ้าไม่ฟังก็
ท่านอาจารย์ ไม่ฟังก็ไม่มีทาง
ผู้ฟัง ไม่มีทางอื่นเลย ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ทีนี้โดยมากเราจะคิดถึงช่วยคนอื่น ใช่ไหมคะ แต่ว่าตัวของเราเองก็เป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ความเห็นผิดที่เป็นความเห็นผิดชัดๆ เราไม่มี แต่ว่าความเห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังมีไหม เพราะว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ
เวลาที่เราคิดถึงคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นจิตที่มีคนอื่นเป็นอารมณ์ แล้วก็คิดถึงจะช่วยเขา ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงความคิดของเราขณะนั้นที่เกิดขึ้นที่คิดจะช่วย นี่โดยปรมัตถ์ จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเป็นผู้ที่ระลึกลักษณะสภาพของจิตบ่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจถูกขึ้น แล้วก็เป็นเรื่องของแต่ละคนต้องปฏิบัติกิจของตนเอง เราอยากจะช่วยคนอื่นจริง ถ้าเขาพร้อมจะให้ช่วย มีข้อแม้อยู่นิดเดียว ถ้าเขาพร้อมจะให้ช่วย เมื่อไรที่เขาพร้อม เราช่วยได้ทันที แต่ถ้าเขายังไม่พร้อม คิดว่าจะไม่สำเร็จ แล้วก็คงจะเสียเวลา
ผู้ฟัง พร้อมนี่หมายถึงเขายินดีที่จะรับฟังพระธรรม ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณกฤษณาอยากจะช่วยใครบ้างคะ
ผู้ฟัง ก็พวกพี่น้อง
ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ คนอื่นล่ะคะ
ผู้ฟัง คนอื่นด้วย ที่รู้จัก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่เราทำอยู่นี้คือการช่วยแล้ว ใช่ไหมคะ คือช่วยตัวเราเองให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น เพื่อว่าเมื่อไรที่เราสามารถจะช่วยคนอื่นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เมื่อเขาพร้อมที่จะรับฟัง
เพราะฉะนั้นเราจะเลือกบุคคลไม่ได้ว่า จะช่วยญาติ หรือจะช่วยเพื่อน แต่ต้องเป็นคนที่พร้อม
คุณกฤษณาเบาใจขึ้นไหมที่ไม่คิดเจาะจงจะช่วยคนนั้นคนนี้ แต่ว่าพร้อมที่จะช่วยใครก็ได้ที่เขาพร้อม เบาใจขึ้นไหมคะ
ผู้ฟัง ยังหนักใจนิดหนึ่งตรงที่ว่า ตัวเองก็ยังไม่ค่อยจะพร้อมเท่าไร แต่ว่าก็อยากจะช่วยคนอื่นด้วย
ท่านอาจารย์ แต่ทุกคนจะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศลแท้ๆ จริงๆ ขณะนั้นเบา แต่ถ้าขณะใดแม้ว่าดูเหมือนเป็นกุศล เพราะว่าอยากจะช่วยตนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นเป็นความหนัก แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นไม่ใช่กุศล
เพราะฉะนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนสภาพของอกุศลจิตเป็นกุศลจิตได้ คือรู้ว่าไม่มีใครสามารถจะช่วยใครได้จริงๆ เขาต้องช่วยตัวเขาเอง แต่เรามีหนทางที่ว่า เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว เข้าใจแล้ว ก็มีโอกาส
ผู้ฟัง อยากจะช่วยสักนิดหนึ่ง อยากจะให้เขาได้แม้ฟังพระธรรมสักนิดหนึ่ง อยากจะช่วยให้เขาได้ฟัง
ท่านอาจารย์ แล้วสำเร็จไหมคะ
ผู้ฟัง ก็ไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ เพราะฉะนั้นก็อย่างที่ว่า ต่อให้เราอยากสักเท่าไร ก็ต้องแล้วแต่คนอื่นพร้อมหรือยัง
ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหม อาจารย์ครับ เราจะสอนหรือจะบอกเขาตอนที่ถึงแม้เขาจะฟังไม่เข้าใจ บอกเขาฟังเอาบุญ อย่างที่มีการเทศน์กันทั่วๆ ไป ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ฟังเอาบุญก็แล้วกัน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วดิฉันก็มีวิธี อย่างเวลารับประทานอาหาร ถ้าเป็นรายการ ๗ โมงครึ่ง ก็เปิดธรรมไว้ที่โต๊ะเบาๆ ใครจะฟังบ้าง ไม่ฟังบ้างก็แล้วแต่ คือถ้าเป็นโอกาสซึ่งทุกคนอยู่พร้อมหน้า แต่จะไม่บอกใครเลยว่าให้ฟัง เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกเขาแต่ถ้าเขาได้ยิน แล้วเกิดความสนใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าโอกาสนั้นก็เป็นโอกาสซึ่งทุกคนอยู่ที่โต๊ะอาหารได้ ถ้าเป็นโอกาสอื่น ต่างคนต่างก็แยกกันอยู่ ก็ไม่ได้ฟัง