เห็นด้วยสัญญาหรือเห็นด้วยทิฏฐิ


    ผู้ฟัง เรื่องทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ ความคิดเห็นที่ประกอบกับความเห็นผิด กระผมพิจารณาแล้วมีข้อคิดเห็นที่น่าพิจารณาข้อหนึ่ง คือว่าความเห็นผิด ขณะที่ว่าไม่รู้ลักษณะของปรมัตถ์ธรรม คือว่าท่านเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่าขณะนั้นท่านไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ความเห็นในเรื่องปรมัตถ์ซึ่งผู้ที่ท่านที่รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมที่ทรงแสดงก็รู้ว่า เป็นนามธรรมรูปธรรม แสดงว่านอกจากจะมีความเห็นในเรื่องปรมัตถ์ซึ่งเป็นนามเป็นรูปแล้ว ความเห็นในบัญญัติก็จะแตกต่างจาก ก่อนที่ได้เข้าใจพระธรรม ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ คือจริงๆ แล้ว ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่รู้จักปรมัตถธรรม ไม่รู้จักธรรม ฟังแต่เรื่องราว แต่ว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมจริงๆ ที่ทรงแสดงไว้กำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ แสดงว่าที่เราเคยศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะมาจะกี่ปริจเฉทก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง คือขณะที่ท่านเห็นเป็นคน คือว่า ไม่รู้ลักษณะของนาม และรูป ท่านก็ไม่มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลยเห็นเป็นคน คนที่ศึกษาธรรมแล้วก็ยังเห็นเป็นคน หรือคนที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นถึงพระอรหันต์แล้วก็ยังเห็นเป็นคน แสดงว่าการที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่ต้องประกอบด้วยความเห็นผิดเสมอไป เพราะเหตุว่ามีสัญญาความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วทางใจก็สามารถจะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร หรือเป็นใคร นี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเป็นสัญญาความจำที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นก็จำได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด คือ เชื่อจริงๆ ว่า นี่เป็นคน จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นคนที่เที่ยงด้วย เป็นคนนั้นคนนี้ ไม่ได้รู้เรื่องของธรรมเลย แล้วมีความเห็นว่า ต้องเป็นอย่างนี้ มีความยึดมั่นในความเห็นนั้น

    ผู้ฟัง ก่อนหน้านี้ผมก็ ส่วนมากจะปฏิบัติสมาธิ แล้วก็สวดมนต์ภาวนา คือไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่พอได้มาฟังท่านอาจารย์บรรยายก็เริ่มสนใจ ท่านอาจารย์บอกระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ทีแรกก็เริ่มระลึกก็ไม่ค่อยทราบอะไร แต่พอได้ศึกษาพระอภิธรรม ได้ศึกษาเรื่องของจิตเจตสิกไปพอสมควร สติถึงเริ่มเกิดขึ้นบ้าง การที่เราเจริญสติ เราไม่ต้องสามารถจำชื่อจิตได้นี้ ก็สามารถระลึกได้ แต่กระผมมีความคิดเห็นว่า เจตสิกน่าจะจำได้บ้าง เพราะว่าขณะที่ รู้สึกลักษณะของเจตสิกจะปรากฏชัด ถ้าไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ เป็นอารมณ์ทางใจ อย่างอิสสา มัจฉริยะ มานะ อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่ต้องจำชื่อได้ไหมคะ อย่างรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกเจ็บ ไม่ต้องจำชื่อได้ไหมคะ ความรู้สึกรู้สึกแล้ว อย่าลืมว่า ความรู้สึกกำลังรู้สึกแล้ว ไม่ต้องจำชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้สึกว่า คือขณะระลึกก็ไม่ต้องจำ แต่ขณะศึกษาก่อนที่จะเจริญสติ รู้สึกว่าการที่สามารถทราบชื่อของเจตสิก เมตตาหมายถึงสภาพธรรมที่มีความเอ็นดู หรือสงสารต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์อะไรอย่างนี้ นะครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วนี้กลับกัน กลับกันที่ว่า สภาพธรรมมี ถ้าไม่อาศัยชื่อเราไม่สามารถจะเข้าใจในสภาพธรรมนั้นได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า มีสภาพธรรมปรากฏแล้วเราจำเป็นจะต้องไปรู้ชื่อ แต่การที่เราฟังชื่อต่างๆ ชื่อของเจตสิก ก็เพื่อให้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งใกล้เคียงกัน แล้วก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดได้ คิดว่าสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ธรรมที่แสดงไว้โดยพยัญชนะต่างๆ โดยละเอียด ก็เพื่อให้เราเข้าใจลักษณะที่ละเอียดของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง ที่ใช้ชื่อต่างๆ เพื่อจุดมุ่งหมายอันนี้ เพื่อให้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เราศึกษาเราก็จะมีชื่อรวมไปด้วยในความจำของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปท่อง หรือจะต้องไปท่อง แต่หมายความว่า จากการได้ยินชื่อทำให้เราสามารถจะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเราได้ยินชื่อนี้ แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างแข็งก็กำลังปรากฏ จะใช้คำว่า อะไรก็ตามแต่ หรือว่าความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจะใช้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่ที่ใช้ชื่อเพื่อให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม


    หมายเลข 9022
    21 ส.ค. 2567