ให้กรรมเป็นเครื่องตัดสิน


    ผู้ฟัง ทีนี้ที่ว่าความเป็นผู้มากด้วยมิจฉาวิตกเป็นเหตุประการหนึ่งที่จะทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตนั้น ไม่ทราบว่าเป็นเหตุในลักษณะไหน อย่างไร แล้วก็ต้องมี มิจฉาวิตกมากมายแค่ไหน จึงจะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เพราะว่าวันหนึ่งๆ เรามีมิจฉาวิตกที่เป็นกามวิตกมากมายหลายประการ คือ เดี๋ยวก็คิดถึงรูป เสียง รส กลิ่น โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ น่าใคร่ น่าปรารถนาเป็นประจำเลย แล้วเราก็คิดว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ อยู่ทุกวัน แล้วโดยการศึกษาเราก็ทราบว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นรูปธรรม ความตรึกนึกคิดก็เป็นนามธรรม อันนี้ก็ไม่ได้เป็นความเห็นผิดอะไรเลย เพราะฉะนั้นจึงมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดมิจฉาวิตกที่เป็นกามวิตกเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอเรียนเชิญอาจารย์สุจินต์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วคิดว่าต้องเกี่ยวกับความเห็นผิดด้วย เพราะเหตุว่าทุกคนก็มีอกุศลวิตก เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นไปในเรื่องของความโกรธ เป็นไปในเรื่องของความเบียดเบียน แต่ไม่มีความเห็นผิด แต่ทีนี้ถ้าคนที่โน้มเอียงไปในทางเห็นผิด จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ดูเป็นของธรรมดาซึ่งไม่ให้โทษ อย่างบางคนที่คิดว่า คนนั้นควรจะตาย เพราะว่าเขาทำอกุศลกรรมมาก ร้ายแรง อย่างนี้ก็โน้มเอียงไปในทางเห็นผิดว่า จิตที่คิดอย่างนั้นไม่ตรงกับสภาพธรรมที่ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว แล้วก็ควรจะเห็นโทษของอกุศลแทนที่จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควร การลงโทษบุคคลหนึ่งบุคคลใด แทนที่จะพิจารณาว่า เป็นกรรมของคนนั้น แต่เรากลับมีความเห็นว่า สมควร ไม่ทราบคุณกฤษณาคิดว่า สมควรหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ไม่สมควรที่จะคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่คิดว่าคนนี้ควรจะตาย เพราะว่าเขาทำกรรมกับคนนั้นคนนี้ไว้มาก

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่สมควร แต่บางครั้งความคิดเกิดขึ้นมาโดยที่เรายับยั้งไม่ได้ อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นว่าเป็นกรรมของเขา แล้วถ้าเป็นกรรมของเราที่คิดไม่ดี เราก็ต้องได้รับผลของกรรม ถ้ามีความโน้มเอียงพอใจที่จะคิดว่า เขาสมควร ค่อยๆ คล้อยไปในทางเห็นผิดว่า เราจะเป็นผู้ตัดสิน หรือเป็นเจ้าโลก แทนที่จะให้กรรมเป็นผู้ตัดสินหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เชื่อในผลของกรรมจริงๆ ถึงแม้ว่าคนนั้นจะทำอกุศลกรรมไว้มาก หรือว่าร้ายแรงสักแค่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอน เป็นผู้ที่มีเมตตา มีความเป็นมิตร แล้วก็เป็นผู้ที่มีกรุณาด้วย ถ้ามีทางใดที่จะช่วยเขา จะช่วยไหม ไม่ใช่ไปช่วยตอนที่เขาได้รับผลของอกุศลกรรมแล้ว เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกคนจะมองเห็น ความทุกข์ยากในโลกแล้วก็ไม่รู้ว่า นี่เป็นผลของอกุศลกรรมจริงๆ ถ้าเขาไม่มีอกุศลกรรมเขาก็คงไม่อดอยาก ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ได้รับภัยพิบัติอันตรายต่างๆ แต่ไปช่วยเขาตอนนั้น แต่ตอนที่เขาทำกรรมเสร็จแล้วก็มีคนตัดสินคิดว่าจะได้รับโทษสมควรแก่การกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเรามีความยินดีโน้มเอียงว่าถูก ดี แทนที่จะพิจารณาว่า เขาต้องได้รับผลของกรรม ไม่ใช่ว่าเราจะมีอกุศลจิตที่ไปคิดว่า ต้องเป็นอย่างนั้น สมควรอย่างนี้ แล้วก็ดีใจที่เขาได้รับโทษอย่างนั้น

    นี่คือความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ คนนั้นก็จะไม่เห็นเลยว่าเรื่องของกรรม เป็นเรื่องที่ของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำไปด้วยกำลังของโทสะอย่างเดียว ทุกคนก็เข้าใจได้ว่า เมื่อโกรธขึ้นมาก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ถ้ามีความโน้มเอียงที่จะเห็นว่าการทำอย่างนี้ไม่บาป การทำสิ่งที่ไม่ดีกับมารดาบิดา หรือว่าผู้มีพระคุณอย่างนี้ไม่บาป หรือว่าอะไรก็ตามแต่ คิดว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่เป็นอกุศล ถ้าเขาเข้าใจอย่างนั้นมีความโน้มเอียงที่ว่า ค่อยๆ คล้อยไปในทางที่จะเห็นผิดไปได้เรื่อยๆ คือ นอกจากเห็นผิดแค่นี้ก็ยังต่อไปอีกนิดหนึ่ง ต่อไปอีก เรื่องอื่นต่อๆ ไป เพราะว่าคิดไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จะใช้คำว่าสมน้ำหน้าได้ไหม

    ท่านอาจารย์ สมน้ำหน้าใครคะ

    ผู้ฟัง ดีใจที่เขาได้รับผลที่ไม่ดี อะไรอย่างนี้ คล้ายๆ กับว่า สมน้ำหน้า อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ใช้คำ “สมน้ำหน้า” คนอื่นจะไม่รู้สภาพจิตของคนที่ใช้คำนี้เลย เรื่องของสภาพจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด คำพูดอย่างเดียวกัน แต่น้ำหนัก หรือความคิดที่เป็นเหตุให้กล่าวคำนั้นจะต่างกัน ประกอบด้วยความเห็นผิด โน้มเอียงไปในทางเห็นผิดก็ได้ หรือไม่โน้มเอียงไปในทางความเห็นผิดก็ได้ เหมือนอย่างเด็กที่ทำร้ายแม่ด้วยกำลังของโทสะเฉยๆ ก็ได้ ภายหลังเขาอาจจะคิดเสียใจว่า เขาไม่ควรจะทำเลย นั่นคือเริ่มมีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาคิดว่า เขาทำอย่างนี้ไม่บาป ไม่ใช่เพียงแต่ด้วยกำลังความโกรธอย่างเดียว แสดงว่าเขามีความโน้มเอียงที่จะมีความเห็นผิด


    หมายเลข 9026
    21 ส.ค. 2567