อสังขาริกมาจากการสะสม


    ท่านอาจารย์ จะสรุปได้ไหมว่า ไม่พิจารณาในเหตุในผลให้ตรงตามความเป็นจริง ถ้าขณะใด ซึ่งมีการกระทำใดๆ ก็ตาม หรือจิตโน้มเอียงไปที่จะไม่พิจารณาให้เหตุกับผลตรงตามความเป็นจริงแล้วละก็ ขณะนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดได้

    ผู้ฟัง เท่าที่สนทนากันไปแล้ว เราก็ได้ทราบแล้วว่า โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แล้วก็แบ่งออกเป็น ๒ อย่างอย่างละ ๔ ดวง คือ โลภมูลจิตที่ประกอบกับความเห็นผิด ก็เรียกว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต อีกประเภทหนึ่งก็ โลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ไม่เกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด เรียกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่มีความเห็นผิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จิตขณะนั้นก็จะต้องเป็นอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิต เพราะว่าจะต้องมีความติดข้อง มีความพอใจ มีความยินดี ขณะนั้นจะต้องเป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต แล้วจะต้องเป็นโลภมูลจิตประเภททิฏฐิคตสัมปยุตต์ โดยแน่นอน ซึ่งโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ก็มีอยู่ ๔ ดวงหรือ ๔ ประเภท ซึ่งเรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ใน ๔ ดวงก็มีที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา คือความรู้สึกดีใจ ๒ ดวง แล้วที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาคือความรู้สึกเฉยๆ ๒ ดวง ทีนี้ในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ๒ ดวง หรือว่าที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ๒ ดวงก็ดี ก็จะมีดวงหนึ่งที่เกิดโดยที่ไม่มีการชักจูง หรือไม่มีการชักชวน ที่ภาษาบาลีเรียก อสังขาริก แล้วก็มีอีกดวงหนึ่งที่เกิดโดยมีการชักชวนหรือมีการชักจูง ที่เรียกว่า สสังขาริก

    ทีนี้เมื่อพูดถึงโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมาพิจารณากันในประเด็นที่ว่า เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวนกับเกิดขึ้นโดยมีการชักชวนนั้นเป็นอย่างไร ความเห็นผิดที่เกิดขึ้นกับโลภมูลจิตโดยที่ไม่มีการชักชวนหรือชักจูง ไม่มีการชักชวนหรือไม่มีการชักจูงใดๆ อันนี้สงสัยว่า อยู่ๆ เกิดขึ้นเอง หรือว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใดคะ ท่านอาจารย์สุจินต์คะ

    ท่านอาจารย์ เกิดเองเพราะการสะสม

    ผู้ฟัง เพราะการสะสม แล้วถ้าจะพิจารณาถึงเหตุที่ให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๕ ประการที่เราได้สนทนากันมาแล้ว มีเหตุอะไรบ้างที่ว่าจะให้ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นโดยเป็นอสังขาริก

    ท่านอาจารย์ ได้ทั้ง ๒ อย่าง ไม่ใช่หมายความคนหนึ่งจะมีความเห็นผิดที่เป็นอสังขาริกตลอด ไม่มีสสังขาริกเลย หรือไม่ได้หมายความคนหนึ่งก็จะต้องมีแต่ความเห็นผิด ซึ่งเป็นสสังขาริก โดยที่ไม่มีอสังขาริกเลย แล้วแต่กาละ

    ผู้ฟัง อย่างถ้าหากว่ามีคนๆ หนึ่งจะมีความเชื่อความเห็นผิดว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป โดยที่เขามีความคิดของเขาเอง เขาไม่ได้รับฟังความคิดนั้นมาจากใคร ไม่มีใครพูดจาหว่านล้อมให้เขาคิดอย่างนั้น จะกล่าวได้ไหมว่า บุคคลนั้นมีทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการชักชวน เพราะว่ามีเหตุคือเขามีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย ซึ่งเป็นเหตุประการที่ ๑ ที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเขาเกิดเอง

    ผู้ฟัง เกิดเองโดยที่สะสมมา

    ทีนี้จำแนกจิตโดยนัยของสัมปยุตต์ และวิปยุตต์ที่กำลังสนทนากันอยู่นี้ เราก็กำลังพูดถึงอกุศลสัมปยุตต์ที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์อยู่ ซึ่งเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดมี ๔ ดวง ที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบกับความเห็นผิด แสดงว่าความเห็นใดๆ ที่เป็นความเห็นผิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นปราศจากความเห็นผิดเสียเลยทีเดียว เพราะว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แสดงว่าความเห็นผิดนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน อาจจะเกิดขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ แต่ว่าในขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์นั้น ทิฏฐิเจตสิกอยู่ตรงไหน ท่านอาจารย์คะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดขึ้น ต้องทราบว่าจิตขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ถ้าเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หมายความว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับจิตนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้เกิดร่วมกับจิตนั้น

    ท่านอาจารย์ จึงเป็นจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    ผู้ฟัง อยู่ที่ไหนไม่ทราบ คือไม่ได้พยายามหาที่อยู่ให้ แต่ว่าเขาจะต้องมีเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น แต่ว่ากว่าที่จะทราบว่าเขามีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เขาอยู่ตรงไหนก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิกใดๆ ก็เกิดไม่ได้เลย กิเลสทุกประเภทก็เกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิต ขอบพระคุณค่ะ


    หมายเลข 9032
    21 ส.ค. 2567