เหตุให้เกิดทิฏฐิคตวิปปยุต
อ.กฤษณา ทีนี้สำหรับทิฏฐิความเห็นผิดที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็มีเหตุที่จะให้ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็มีเหตุ ๕ ประการ ซึ่งก็เป็นเหตุที่กล่าวได้โดยนัยตรงกันข้ามกับเหตุที่ทำให้เกิดจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
ประการแรกก็คือ เป็นผู้ไม่มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย อันที่ ๒ ก็เป็นผู้ไม่คบผู้ที่เป็นทิฏฐิวิบัติ อันที่ ๓ เป็นผู้มุ่งหน้าต่อพระสัทธรรม อันนี้ก็ตรงข้ามกับเป็นผู้ที่เบือนหน้าหนีจากพระสัทธรรม ที่เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ อันที่ ๔ เป็นผู้ไม่มากด้วยมิจฉาวิตก และอันที่ ๕ มีการพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายหรือไม่แยบคาย เมื่อสักครู่เราก็ได้สนทนากันไปแล้ว อันนี้เป็นเหตุ ๕ ประการที่จะให้ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิตเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นในนัยตรงกันข้ามกับเหตุให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ทราบว่ามีผู้ร่วมสนทนา มีปัญหาอะไรในจุดนี้หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ถามท่านอาจารย์สมพรครับ คำว่าทิฏฐิอย่างเดียว เป็นความเห็นเฉยๆ ใช่ไหมครับ
อ.สมพร ทิฏฐิ ในที่นี้ เพราะว่าทิฏฐิในโลภะ ต้องเป็นความเห็นผิดอย่างเดียวครับ เรามุ่งแสดงถึงโลภะ ๘ ประเภท แล้วทิฏฐิเฉยๆ ที่ใช้ในโลภะ ทิฏฐิ จะแปลว่า ความเห็นเฉยๆ ก็ตาม แต่ถ้าเกิดกับโลภะ ต้องเห็นผิดแน่นอนครับ
ผู้ฟัง แล้ววิปปยุตต์นี้ผิด ใช่ไหม
อ.สมพร วิปปยุตต์ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด
ผู้ฟัง สัมมาทิฏฐิ
อ.สมพร สัมมาทิฏฐินั้นหมายถึงปัญญา เห็นชอบ เห็นถูกก็ได้ครับ
ผู้ฟัง แล้ววิปปยุตต์นี่ก็
อ.สมพร วิปปยุตต์เป็นกิเลส เพราะว่าเป็นโลภะ ไม่มีทิฏฐิ ทิฏฐิไม่ได้เกิดความเห็นผิด ไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะ หมายความว่าโลภะมี ๘ อย่าง อันนี้มีแต่โลภะ ทิฏฐิไม่เกิด หมายความว่าอย่างนั้น
ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจ สับสน
ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่เข้าใจศัพท์บาลี ๒ ศัพท์ คือ สัมปยุตต์ กับวิปปยุตต์ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ครับ มันเข้าใจในสัมปยุตต์ ในฝ่ายปัญญาเป็นสัมปยุตต์ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ มิได้ ต้องเข้าใจ ๒ คำนี้ก่อน สัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ สัมปยุตต์ หมายความว่าประกอบด้วยสภาพธรรม เช่น ถ้ากล่าวว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็ประกอบด้วยทิฏฐิเจตสิก ถ้าวิปปยุตต์ แปลว่าไม่ประกอบด้วย ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็หมายความว่าไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมปยุตต์เมื่อไร ต้องดูว่าเจตสิกอะไรที่กล่าว ที่แสดงว่าสัมปยุตต์ เช่น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ต้องประกอบด้วยทิฏฐิ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา ญาณวิปปยุตต์ไม่ประกอบด้วยปัญญา