แยบคาย - ไม่แยบคาย
ผู้ฟัง ขอถามเรื่องกิจของจิตอีกนิด ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ คือปฏิสนธิจนถึงสุดท้าย ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ จุติจิต
ผู้ฟัง ทำกิจอะไรต่ออะไร ผมไม่เข้าใจว่า จิตดวงหนึ่งทำกิจอะไร ปฏิสนธิทำ
ท่านอาจารย์ ทำจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ ยังไม่ตาย ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ยังไม่ตาย ก็ดำรงภพชาติ คือ ภวังคกิจ
ผู้ฟัง ต่อมาจากภวังคจิตแล้วเป็นจิตอะไรต่อ ภวังค์แล้วอะไร
ท่านอาจารย์ ต่อจากภวังค์ต้องเป็นปัญจทวาราวชนจิต หรือมโนทวาราวชนจิต
ผู้ฟัง อย่างโวฏฐัพพนะ
ท่านอาจารย์ นั่นที่หลัง หมายความว่าวิถีจิตแรกที่สุด คือ ปัญจทวาราวชนจิต หรือมโนทวาราวชนจิต เพราะว่าหลังจากปฏิสนธิแล้ว จิตจะทำกิจอื่นยังไม่ได้เลย นอกจากเมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตคือจิตซึ่งทำกิจภวังค์ต้องทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ระหว่างที่ยังไม่มีการเห็นทางตา การได้ยินทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย เช่นกำลังนอนหลับสนิท ขณะนั้นเป็นภวังคจิต
เพราะฉะนั้นถ้าจะแยกจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตประเภทหนึ่งกับจิตที่เป็นวิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตนี้ง่าย มี ๓ อย่างเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิด ภวังคจิต กับ จุติจิต นอกจากนั้นจิตที่เหลือเป็นวิถีจิต ที่ใช้คำว่าวิถีจิต หมายความว่าเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตาก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูก็เป็นโสตทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้นก็แยกจิตเป็น ๒ พวก พวกที่เป็นวิถีจิตกับไม่ใช่วิถีจิต
อ.สมพร คือการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่แยบคาย ท่านพูดรวมเอาไว้ เมื่อแยบคายแล้วกุศลก็เกิด ๗ ขณะ ไม่ได้มุ่งถึงโดยแยบคายอยู่ในนั้นด้วย ท่านบอกว่าเมื่อพิจารณาโดยแยบคาย กุศลก็เกิด ๗ ขณะติดต่อ ถ้าการพิจารณาโดยไม่แยบคายอกุศลก็เกิด ๗ ขณะติดต่อ อันนี้ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บอกว่าสั่งสม เพราะว่าอันนี้ก็เป็นความเหมาะสมในกาลก่อนที่เราสั่งสมเอาไว้ แล้วก็ตัดสินอารมณ์ เริ่มมาตั้งแต่สันตีรณะ พิจารณาซึ่งเป็นอเหตุกะ สัมปฏิจฉันนะไม่มีพิจารณา รับอารมณ์ ทีนี้สันตีรณะ พิจารณา แต่ว่ายังเป็นอเหตุกะอยู่ ทีนี้การสะสมเอาไว้เป็นเหตุให้เราพิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบคายหรือแยบคายก็ตาม กุศลหรืออกุศลก็อาศัยการพิจารณานั้นเกิดขึ้น ๗ ขณะ