ทิฏฐิไม่เกิดร่วมกับจิตอื่น


    ผู้ฟัง ทิฏฐิคตวิปยุตจิต เท่าที่สนทนากันไปแล้ว แล้วที่ทราบก็ทราบว่ามี ๔ ดวง ก็สงสัยว่าทำไมท่านจึงจำกัดจำนวนไว้เพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั้น อย่างเช่นโทสมูลจิตก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โมหมูลจิตก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด อเหตุกจิต และโสภณจิตอื่นๆ ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ทำไมจึงไม่นับรวมเข้าไปในทิฏฐิคตวิปปยุตต์ด้วย เรียนถามอาจารย์สุจินต์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ คราวก่อนคิดว่า เราพูดถึงเรื่องการดับกิเลสว่า สำหรับพระโสดาบัน ท่านดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ว่าพระอริยบุคคลขั้นอื่นๆ จนถึงพระอนาคามีถึงจะดับโลภมูลจิตที่เกิดกับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ แล้วก็ยังมีพระอรหันต์ซึ่งท่านดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์หมดเด็ดขาด เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการดับกิเลสเป็นขั้นๆ

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้โดยชื่อทำให้สงสัยได้ว่า ทำไมจึงจำกัดไว้เพียง ๔ ดวงว่าจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยชื่อ เมื่อทราบความหมายของชื่อแล้วก็ทำให้คิดไปได้ว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มีหลายดวงนอกจาก ๔ ดวงที่กล่าวแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเรื่องของโลภะ จะเอาอย่างอื่นเข้ามาใส่หมายความว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง คือถ้าเผื่อว่า จะพูดโดยชื่อให้ถูกต้องก็ควรจะพูดเต็มๆ ว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ใช่ไหมคะ แต่บางครั้งก็พูดสั้นๆ ว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ซึ่งถ้าพูดชื่อสั้นๆ เพียงแค่นี้ทำให้เข้าใจไปได้ว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มีจิตอื่นได้อีกนอกจากโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าควรจะพูดเต็ม หรือไงคะ

    ผู้ฟัง คิดว่าควรจะพูดชื่อเต็ม ใช่ไหมคะว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์คือโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่หลายๆ ครั้งรวมทั้งดิฉันเองพูดว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต พอพูดแล้วก็เลยทำให้ตัวเองสงสัยเองด้วยว่า ก็จิตอื่นที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็ยังมี อย่างเช่น โทสมูลจิตเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่หมายความว่า ละไว้ในที่เข้าใจว่า พอพูดถึงโลภะก็หมายความว่าทิฏฐิคตวิปปยุตต์ใช่ไหมคะ ไม่ใช่อย่างอื่น พูดกันเอง เข้าใจกันเอง จะพูดสั้นก็ได้ แต่จริงๆ พูดให้เต็ม ก็ต้องเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    ผู้ฟัง คือพอพูดสั้นแล้วเลยกลายเป็นว่ามาสงสัยเองอีกทีว่า ก็จิตอื่นก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็เลยคิดว่าน่าจะพูดชื่อเต็ม

    ท่านอาจารย์ แต่จิตอื่นไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่ความเห็นผิดไม่ไปเกิดกับจิตอื่นนอกจากโลภะ

    ผู้ฟัง ค่ะ ถ้าเผื่อว่าจะตีความหมายให้คลุมตามชื่อที่ว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจไปได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นโลภะเท่านั้น จะไม่หมายความถึง โทสะหรือโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง เฉพาะโลภมูลจิต ถึงแม้ว่าความเห็นผิดจะไม่ประกอบกับจิตอื่นๆ ก็ตาม

    ท่านอาจารย์ แต่เราพูดถึงประเภทของจิตซึ่งทิฏฐิจะเกิดร่วมด้วย ก็มีแต่เฉพาะโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตต์หรือวิปปยุตต์โลภะวิปปยุตต์ ก็ต้องหมายความถึงวิปปยุตต์จากทิฏฐิ

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดว่าโลภะวิปยุตต์ก็จะทำให้เข้าใจได้อีกว่า ไม่ประกอบด้วยโลภะ ก็ต้องพูดว่า โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดเต็ม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราเคยพูดย่อๆ ต่อไปนี้เราก็ระวัง

    ผู้ฟัง ก็อาจจะทำให้เข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง


    หมายเลข 9036
    21 ส.ค. 2567