โทสะ สังเกตที่เวทนา
ผู้ฟัง ก็อยากจะให้ท่านอาจารย์สมพรอธิบายโดยพยัญชนะในเรื่องของ ปฏิฆะ
อ.สมพร ปฏิฆะ จริงๆ ก็แปลว่ากระทบ หรือเราใช้คำว่า “กระทบกระทั่ง” คือทำให้มันมีความรู้สึกว่ามันเกินความสุขไป เมื่อกระทบแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ แต่ท่านใช้คำว่าปฏิฆะ ไม่สบายใจก็เป็นประเภทของโทสะ เมื่อกระทบทีไรเราก็ไม่สบายใจ ปฏิฆะอันนี้มุ่งถึงความไม่สบายใจ โทสะเป็นประเภทเดียวกับปฏิฆะ โทสะก็เป็นสังขารขันธ์ ปฏิฆะก็เป็นสังขารขันธ์ เหมือนกัน แต่ท่านใช้คำว่า “ปฏิฆะ” แท้จริงนั้นคือโทสะนั่นเอง เมื่อกระทบแล้วโทสะก็เกิดขึ้น จิตที่กระทบกระทั่ง
ผู้ฟัง แล้วสัมปยุตต์ก็หมายความว่าจิตที่ประกอบกับการกระทบกระทั่ง
อ.สมพร ประกอบ จิตกับเจตสิกนั้นประกอบกันโดยลักษณะ ๔ เรียกว่าสัมปยุตต์ ๔ อย่าง มีการเกิดพร้อมกันเป็นต้น จิตกับเจตสิกนั้นเรียกว่า สัมปยุตต์กัน
ผู้ฟัง จะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์โดยลักษณะ และธรรมชาติ
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ จริงๆ ถ้าพูดแล้วก็แปลกนะคะ อาจารย์ คือว่าโลภมูลจิตมีทิฏฐิคตสัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ ไม่ได้บอกชื่อ โลภะสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสมูลจิตเป็นปฏิฆสัมปยุตต์
อ.สมพร เป็นปฏิฆะ คือ การกระทบกระทั่ง อันนี้ถ้าจะว่าแล้วเรื่องโลภะ บางแห่งท่านก็บอกว่า ใช้คำว่าวิปปยุตต์เฉยๆ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตต์เฉยๆ แต่บางแห่งผมก็เคยพบว่า ท่านใช้คำว่า โลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ หรือโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ บางแห่งก็ใช้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ใช้ตัดโลภะออก ในฐานะที่เข้าใจกันว่า ทิฏฐินี้ต้องเกิดกับโลภะ ท่านก็เลยไม่ต้องใช้คำว่าโลภะ พิจารณาจริงๆ แล้ว มันมีความไม่เข้าใจ อาจจะมี แต่เราก็เห็นว่า ถ้ามัน วิปปยุตต์เกิดพร้อมกับโทสะแล้วคงจะไม่มีปัญหา โทสะก็เป็นเจตสิก ปฏิฆะก็เป็นเจตสิกเกิดร่วมกับจิตโดยลักษณะ ๔ แต่ว่ามันอาจจะทำให้เรามีความคิดอะไรต่างๆ ไปก็ได้
ท่านอาจารย์ คือนี้เรื่องของคนคิดมาก คือ คิดไปทีละตัว ทีละตัว แล้วก็นั่งสงสัยว่า โลภมูลจิต ไม่มีโลภะสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสมูลจิต มีปฏิฆสัมปยุตต์ ซึ่งหมายความว่าเกิดร่วมกับโทสเจตสิก แล้วพอถึงโมหะ ก็ไม่มีโมหะสัมปยุตต์ แต่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์กับอุทธัจจสัมปยุตต์ ที่เป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นเพราะเหตุว่าสำหรับโลภะ แน่นอนไปแล้วว่าจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยที่เป็นสัมปยุตต์อย่างหนึ่ง คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่พอถึงโทสะไม่มี
ผู้ฟัง มันตรง ไปทางลัดเลย เกิดกระทบกระทั่งแรงหน่อย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอถึงโมหะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่าโมหะสัมปยุตต์เพราะเหตุว่าโมหะนั้นต่างเป็น ๒ โดยการที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ดวงหนึ่ง แล้วก็อุทธัจจสัมปยุตต์ดวงหนึ่ง
ผู้ฟัง ลักษณะหรือธรรมชาติของโทสะ
ท่านอาจารย์ ความไม่พอใจทั้งหมด ข้อสำคัญที่สุดที่จะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทไหน คือสังเกตที่เวทนา ความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ทั้งหมดจะพ้นจากโทสมูลจิตไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเสียใจ น้อยใจ ขุ่นใจ กังวล หรืออะไรก็ตาม ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นสุขเลย ขณะนั้นจะต้องเป็นโทสมูลจิตเท่านั้น จะเป็นโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าหากเราสังเกตที่เวทนา ก็จะต้องเป็นโทมนัสเวทนาได้อย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ค่ะ จิตต้องเป็นโทสมูลจิตด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราเรียนโลภมูลจิตไปแล้ว มันประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนานั้น เจ้า ๒ ตัวนี้เขาจะเข้ามาอยู่กับโทสะไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง เพราะมันขัดกันใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ เวทนาสำหรับโลภะแล้วได้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสหรืออุเบกขา เพราะฉะนั้นสภาพของเวทนาซึ่งต้องนำหน้าจิตทุกดวง จะสังเกตได้ว่า พอพูดถึงโลภมูลจิตก็ต้องเป็นโสมนัสสสหคตัง หรืออุเบกขาสหคตัง พอพูดถึงโทสมูลจิตก็ต้องเป็น โทมนัสสสหคตัง พอพูดถึงโมหมูลจิตก็ต้องเป็นอุเบกขา
ผู้ฟัง ในความรู้สึกโสมนัสอันนั้น อะไรที่เป็นสิ่งบอกเราว่า นี่เป็นโลภะแล้วนะ อยากได้บุญแล้วนะ แต่นี่เป็นกุศล ถ้าหากท่านได้สังเกตอันนี้ บางครั้งท่านจะเผลอว่า อันนั้นเป็นกุศล แต่อันนั้นเป็นโลภ
ท่านอาจารย์ ถ้ามีสติสัมปชัญญะจะรู้สภาพของจิตที่เบา ไม่หนักเลย ลักษณะของกุศลจิต ต้องเป็นสภาพที่ไม่ติดข้อง แล้วก็เป็นสภาพที่เบา ไม่มีความหวัง ไม่มีอะไรที่จะมาเจือที่จะทำให้รู้สึกว่า ขณะนั้นหนัก หรือว่าเป็นความต้องการ เป็นสภาพที่เหมือนปล่อยวาง เบา สบาย ลักษณะของกุศล ขณะนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง อันนี้ก็อาจารย์สอนเสมอว่า อย่าไปถามใครที่ไหน ให้รู้สึกตัวเอง เพราะฉะนั้นจากความรู้สึกของตัวดิฉันเอง ถ้าเราทำบุญแล้ว ถ้าเผื่อเราอยากได้บุญ อย่างอาจารย์ว่า มันเหนื่อย ทำอีกๆ มันเหนื่อย มันอยากจะไปถึงตรงนั้น ไปถึงตรงนั้น แต่ถ้าเรานึกเป็นกุศลแล้ว แค่นี้คือแค่นี้ อันนั้นใช่หรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ไม่ให้เฉียด เพราะว่าบางคนคิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงยังไม่ใช่กุศล ยังเป็นอกุศลอยู่ เช่น อยากทำบุญ อยากบวชพระ หรืออยากจะให้อะไรๆ ที่ไหน อย่างนี้ก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่เหมือนกับความตั้งใจ ความตั้งใจที่เป็นกุศล มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะสละ ไม่ใช่เพียงอยาก ถ้าอยากเท่านั้นเป็นความที่หนัก อยากแล้วก็ไม่สมกับสิ่งที่จะกระทำ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้กระทำ ยังอยากอยู่ เพราะฉะนั้นลักษณะของอยาก เป็นลักษณะของอกุศล ลองคิดถึงอยากทำบุญ กับ จะทำบุญ ผิดกัน มีความตั้งใจที่จะทำ เป็นกุศลแล้ว แต่เวลาที่อยากจะทำ ไม่ใช่ค่ะ ขณะอยากนั้นต้องเป็นอกุศล แม้ว่าอยากจะทำบุญ
ผู้ฟัง ขออนุญาตพูดอีกคำว่า โลภ โกรธ หลง คนก็สงสัย ไอ้คำว่าโกรธ โกรธอย่างเดียว มันไม่เหมือนกับเครียด นั่นมันเป็นภาษาไทย แต่ถ้าเผื่อเป็นโทสะ หรือเป็น ปฏิฆะแล้ว เครียดนี่มันก็อยู่ในตระกูลโทสะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามที่ไม่สบายใจทั้งหมดค่ะ
ผู้ฟัง โศกเศร้า ร้องไห้ อะไร อยู่ในตระกูลโทสะทั้งสิ้น อันนี้ก็อยู่ในเรื่องลักษณะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงลักษณะที่ทำร้าย ไม่ใช่เพียงดุร้ายอย่างเดียว ลักษณะที่ร้ายๆ ที่ไม่สบายใจ ทั้งหมดก็เป็นลักษณะของโทสะ