ต้องเจริญปัญญารู้ความจริง
ผู้ฟัง ข้อ ๒ มีการแผดเผาสัมปยุตตธรรมเป็นกิจ
อ.สมพร อธิบายคำว่า สัมปยุตตธรรม ธรรมที่เกิดพร้อมกันเรียกว่า สัมปยุตตธรรม โทสะเป็นกิเลสเกิดขึ้นก็เผาสิ่งที่เกิดร่วมด้วย คือ เผาจิต เผารูป เรียกว่าสัมปยุตตธรรม แต่ว่ารูปดับไม่พร้อมกัน แต่จิตดับพร้อมกันเรียกว่า เผาสัมปยุตตธรรม หมายความว่า สิ่งที่เกิดพร้อมกับโทสะนั่นแหละทำให้เร่าร้อน กระสับกระส่ายต่างๆ นานา เรียกว่ามีการเผาสัมปยุตตธรรม คือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันทั้งรูปทั้งนาม เอาเฉพาะเกิดพร้อมกัน ถ้าว่ารูปเกิดดับไม่พร้อมกัน เกิดพร้อมกันได้ จิตเกิดพร้อมกับโทสะได้ เผาคือทำให้เร่าร้อนกระสับกระส่าย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สุจินต์ ถ้าเรารู้สึกมีการแผดเผา ทำอย่างไรให้มันเย็นลงได้
ท่านอาจารย์ ค่ะ เย็นลง แล้วก็มีอีก ถ้าวิธีของคุณสุรีย์ คือเย็นลง แล้วก็มีอีก แล้วก็เย็นลง แล้วก็มีอีก ก็ไม่จบ
ผู้ฟัง หมายความให้มันทุเลา เอาทุเลา
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องการทุเลา ทำไมไม่ต้องการดับเป็นสมุจเฉทล่ะคะ
ผู้ฟัง มันยังไม่ถึงตรงนั้น ต้องค่อยๆ ไปทีละเล็กละน้อย เอาเป็นสมุจเฉทก็ได้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมากคนต้องการผลปัจจุบันเล็กๆ น้อยๆ นิดเดียว คือเวลาที่เกิดขุ่นเคืองใจ ก็อยากจะให้ใจสบาย พอใจสบายแล้วก็เลิกแล้ว พอแล้ว ถูกใจแล้ว ใช่ไหมคะ แต่ว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับ เพราะเหตุว่าถ้าตราบใดยังมีโลภะ มีความติดข้อง ที่จะไม่ให้เกิดโทสมูลจิตนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นต้องสามารถรู้ถึงสมุฏฐานหรือเหตุที่จะให้เกิดโทสะ ได้แก่ โลภะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าตราบใดยังมี ไม่มีทางเลย ซึ่งจะบอกว่าพอโทสะเกิด ทำอย่างไรถึงจะเย็น ไม่มีทางเลย
ผู้ฟัง ก็ต้องไปตัดที่ต้นเหตุ
ท่านอาจารย์ ต้องเจริญปัญญารู้ความจริง แล้วก็ต้องทราบได้ว่า ผู้ที่จะดับโทสมูลจิตได้ ผู้นั้นคือพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นเลิกพูดกันเสียเลยว่า ทำอย่างไรๆ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาซึ่งเจริญตามลำดับขั้น จนกระทั่งถึงสามารถที่จะดับได้จริงๆ
เพราะฉะนั้นขั้นแรกเมื่อทราบว่า ผู้ที่จะไม่มีโทสมูลจิตคือพระอนาคามี ก็ยกไปเลย ใครมีเกิดขึ้นเมื่อไรก็ให้ทราบในลักษณะสภาพธรรมขณะนั้นว่า เป็นสภาพหรือธาตุแต่ละชนิดซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นี่คือขั้นต้นของคนซึ่งจะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ด้วยการมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน ไม่ใช่จะว่าจะไม่ให้มีโทสะในขณะนี้
ผู้ฟัง อันนี้ก็หมายความว่าเจริญสติปัฏฐาน ให้เกิดสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ แล้วสติปัฏฐานก็คือขณะนี้ธรรมดาๆ ที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรม แล้วก็มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ให้เริ่มเข้าใจขึ้น ตอนแรกที่สติยังไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ถึงจะชื่อว่าเป็นการศึกษาเพื่อรู้สภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องราวของธรรม ทั้งๆ ที่ในขณะนี้ธรรมกำลังเกิด กำลังดับ ทำกิจการงานของธรรมแต่ละชนิดที่เรากำลังพูดถึง ถ้าเป็นโสภณธรรมขณะนี้ก็มีสติ แต่ว่าถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโสภณ ก็ไม่มีการที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรม ก็เป็นเราไปตลอด
เพราะฉะนั้นขั้นต้นไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการที่จะไม่มีโทสะ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง
ผู้ฟัง อันนี้ถ้าเผื่อว่าเรายังไม่ถึงขั้นที่จะเชี่ยวชาญพอที่จะเจริญสติปัฏฐาน เราระลึกรู้ได้ไหมว่า ในขณะซึ่งมันเกิดขุ่นเคือง หลังจากขุ่นเคืองแล้ว จิต สติระลึกว่าอันนี้เป็นขุ่นเคืองแล้วนะ ให้ระลึกรู้แค่นี้ก่อนได้ไหมคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ คือโดยมากคนพยายามถามวิธี เพื่อที่จะทำแล้วก็จะให้เป็นกฎเป็นเกณฑ์ แต่ให้ทราบว่า อนัตตา เป็นความจริงแท้ของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ไม่มีธรรมใดเลยที่เป็นอัตตา หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้สติ แม้การฟังในขณะนี้ ฟังให้เข้าใจ แล้วเมื่อมีความเข้าใจในขั้นการฟังแล้วไม่ต้องห่วง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ ส่วนการที่จะเกิดสติขณะไหนนั้นอย่ากังวล เพราะเหตุว่าถ้ากังวลก็ไม่พ้นจากเครื่องเนิ่นช้า คือ โลภะ แสดงให้เห็นว่า โลภะเขาจะติดตามแล้วก็กั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่รู้ความจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็สภาพธรรมในขณะนี้เป็นปกติ เพียงแต่สติเกิดระลึกเท่านั้น ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เป็นเราจะเอาตรงนี้หน่อยหนึ่ง ขั้นต้นแค่นี้ได้ไหม หรืออะไร ไม่ใช่ค่ะ แต่เป็นเรื่องที่ว่าสภาพธรรมก็เกิดดับตามปกติ สภาพธรรมใดดับแล้วก็ไม่ต้องกังวลถึง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใดอยู่ตลอดเวลาแม้ในขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้นที่สติจะระลึกหรือไม่ระลึกอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง สติเกิดระลึกเป็นปกติของสติ โดยที่ไม่มีอะไรไปบอกว่า เอาแค่นี้ หรือแค่นั้น