พิจารณาอกุศลของตนเอง


    ผู้ฟัง ทีนี้ไปถึงข้อ ๑๐ อาฆาตในฐานะที่ไม่สมควร เช่น ขณะที่เดินสะดุด หรือเหยียบหนามเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์คิดถึงอาฆาตเหมือนกับไปผูกพยาบาทอาฆาตใคร ที่ใช้คำว่า อาฆาตวัตถุ อย่าลืมว่า เป็นแต่เพียงวัตถุที่ตั้งที่ทำให้เกิดโทสะ เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าข้อ ๑๐ หมายความว่าไม่เกี่ยวกับคนซึ่งทำไม่ดีกับเรา ทำไม่ดีกับคนที่เรารัก หรือทำดีกับคนที่เรารักก็ตามแต่ ถ้าคุณสุรีย์เกิดชนโต๊ะ ชนเก้าอี้หรืออะไรสักอย่างก็ตามแต่ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศลประเภทไหน

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปใช้คำว่าอาฆาต ว่าจะต้องเป็นคน นี่ไม่ใช่คน หรืออะไรก็ตามแต่ อะไรก็ตามที่ทำให้ขณะนั้นจิตไม่สบายใจ ไม่ใช่โลภะ หรือไม่ใช่โมหะ

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้ในขณะซึ่งโกรธ ก็มีบุคคลชนิดที่ว่า นี่ทำไมเอามาวางให้ฉันเตะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง ยังไม่ต้องไปคิดถึงว่าใครเอามาวาง

    ผู้ฟัง แต่พอมาเลียงแล้ว โอ นี่มันเป็นวิบากของเรา ใช่อาจารย์คะนี่เรื่องจริง

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้คะ ยัง ยังค่ะ ยังไม่ต้องคิดถึงใครเอามาวาง เพราะเหตุว่าจิตนี้ละเอียดมาก ให้ทราบว่าวันหนึ่งๆ อกุศลมาก ขณะใดที่ไม่เป็นกุศลในบุญกิริยาวัตถุ ต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ อย่าง คือ ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ก็ต้องเป็นโมหะ ทีนี้ถ้าคุณสุรีย์เกิดหกล้มเจ็บ ไม่สบายใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นยังไม่ได้คิดถึงว่าใคร เอาอะไรมาว่างตรงนี้เลย แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า แล้วถ้าเป็น เป็นชนิดไหน เมื่อไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ก็เป็นโมหะ

    ผู้ฟัง แต่คนมักจะไม่โทษตัวเราที่ว่าเดินซุ่มซ่าม มักจะโทษคนอื่นเอามาวางไว้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น เพียงแต่ให้สังเกตจิตว่า เป็นกุศลประเภทไหน

    ผู้ฟัง เราก็ต้องโกรธแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ได้คิดว่า ใครเอามาวางไม่เอามาวาง แต่โทสมูลจิต เพราะไม่สบายใจ ไม่ชอบที่เจ็บที่ถูกบาดแผล หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณสุรีย์สะดุดเก้าอี้ แล้วก็เจ็บ บ่นไหมคะ

    ผู้ฟัง บ่น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่บ่นเป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ โทสะ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำพูดสักนิดหนึ่ง หรือยังไม่ทันพูด เพียงแต่ว่าความเจ็บเกิดขึ้น ทุกข์กายวิญญาณเกิด แต่ว่าใจเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ดับกิเลส จะเห็นได้ว่า เวลาที่มีความปวดเจ็บเกิดขึ้น ความไม่สบายกายเกิดขึ้น จะต้องมีความรู้สึกที่ไม่พอใจ ไม่ชอบ แม้แต่ว่าจะไม่ป่น แต่ใครจะชอบลักษณะของความปวดเจ็บที่กำลังปรากฏกระทบทางกาย ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปซึ่งเป็นชวนจิตเป็นกุศลหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด หรือแม้ว่าโทสมูลจิตเกิดแล้ว สติก็ระลึกได้

    เพราะฉะนั้นการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่เว้นไม่ว่าอกุศลประเภทใด ไม่มีการที่จะไปบังคับว่า พอเจ็บแล้วก็ให้เป็นกุศล ไม่มีเลย แล้วแต่ว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิดปรากฏก็เกิด เพราะว่าชั่วขณะที่สั้นแสนสั้น สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏสั้นมาก แม้แต่โทสะก็สั้น เพราะอะไรคะ เห็นก็มีสลับแล้ว ได้ยินก็มีสลับแล้ว

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่สติจะระลึกแล้วรู้ความจริงว่า แม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่สั้น แต่ปัญญาก็สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทใด แต่จะบอกว่า ไม่มีอกุศลจิตเวลาที่ป่วยเจ็บก็ยาก เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่จะบ่นหรือไม่บ่น ก็มีความรู้สึกว่าไม่ชอบไม่พอใจในความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น

    ผู้ฟัง อันนี้เราก็มาเข้าถึงตัวเต็มของโทสมูลจิต ตามภาษาบาลีก็คือ โทมนัสสสหคตัง ซึ่งเราก็คุยกันมาเยอะแล้ว โทมนัสก็คือความไม่พอใจนั่นเอง ปฏิฆะสัมปยุตตัง อสังขาริก ก็ปกติก็เห็นแต่อสังขาริกกัง ไปอ่านหนังสือของอาจารย์ มี อสังขาริกเมกัง มีเม อีกตัว

    อ.สมพร อสังขาริกเมกัง ก็แยกศัพท์ อสังขาริก แล้วก็ เอกัง คำว่าเอกัง คือหนึ่งอย่างหนึ่งๆ เอกัง ถึงเราไม่มี เราใส่แค่อสังขาริกัง ก็ได้ แต่ถ้าใส่แล้วก็หมายความว่าอย่างหนึ่งๆ ๘ อย่าง หรือ ๒ อย่าง อะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ เอกะ แปลว่า ๑

    เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่คำว่า อสังขาริกกัง ไม่ได้ใส่หนึ่งเข้าไป แต่ถ้าอสังขาริกเมกัง หมายความว่า ๑ ๑ ๑ เพราะฉะนั้น บางคนก็สงสัยว่าอย่างไหนถูก จะเป็นอสังขาริกัง หรืออสังขาริกเมกัง ถูก ก็ไปนั่งคิดกันใช่ไหมคะว่า ๒ อย่าง คงจะสำคัญมาก แล้วก็อย่างไหนจะถูก แต่จริงๆ แล้วเราพูด หนึ่ง ทุกครั้ง หรือเปล่า ในเมื่อเราไม่ได้แยก เราก็บอกว่าโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต เป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ หนึ่งเข้าไปทุกครั้ง มิฉะนั้นแล้วก็ต้องกลายเป็นว่าเราเพิ่มคำว่า ๑ เข้าไปทุกครั้งที่เราพูด ใช่ไหมคะ


    หมายเลข 9045
    21 ส.ค. 2567