ให้รู้ตัวจริงเวลาโกรธ
ผู้ฟัง กระผมคิดว่าปฏิฆสัมปยุตต์ ฟังดูแล้วก็คุ้นๆ หู กระผมขอให้ท่าน วิทยากรช่วยพูดเป็นภาษาที่ว่า ปฏิฆะ ผมคิดว่าเผื่อบางท่านที่มาใหม่ๆ จะได้เข้าใจว่า ลักษณะปฏิฆะที่เกิดขึ้นแล้วในจิตนั้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ คือ ก่อนอื่นขอทบทวนนิดหน่อยว่า เรื่องของจิตมีมาก แล้วเราก็ไม่ทราบว่า เราจะเรียกจิตประเภทไหน โดยนัยอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็แบ่งออกเป็น เรียกโดยชาติ คือ เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยาบ้าง หรือว่าเรียกโดยประเภทของภูมิ ที่ว่า จิตระดับนี้เป็นระดับกามาวจรจิต เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือเป็นการแบ่งจิตให้เห็นว่า จิตแยกเป็นประเภทได้อย่างไรบ้าง โดยเวทนา หรือว่าโดยเหตุที่เกิดร่วมด้วย และอีกนัยหนึ่ง ก็คือโดยสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าลักษณะของจิตมีอยู่เป็นประจำทุกวัน แต่มีใครที่จะสังเกตลักษณะของจิต นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะได้ประโยชน์จากการศึกษา เพราะเหตุว่าถ้าเราศึกษาเพียงชื่อ แล้วเราไม่รู้เลยว่า จิตขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน อย่างไร ก็เท่ากับว่าไม่ได้รู้จักตัวจริงๆ ของจิต เพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของจิต เพราะฉะนั้นแม้แต่จะใช้คำว่า โดยนัยของสัมปยุตต์ คือ สภาพของเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ก็เป็นการแสดงให้เราเห็นว่า เราสามารถจะรู้ลักษณะของจิตซึ่งต่างกันในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าแม้ว่าจิตในวันหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียงทีละ ๑ ขณะเท่านั้น แต่ว่าต่างประเภทกันออกไปมาก เช่น จิตเห็นก็เป็นประเภทหนึ่งซึ่งต่างกับจิตอื่น
เพราะฉะนั้นการที่เราจะกล่าวถึงโดยสัมปยุตต์ คือ โดยเจตสิกซึ่งเกิดที่สามารถจะทำให้รู้ว่า จิตประเภทนั้นต่างออกไป ก็มีที่เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ แล้วก็ที่เป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑
นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเราในวันหนึ่งๆ สามารถจะรู้ได้โดยลักษณะของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ที่ใช้คำว่าสัมปยุตต์ เพราะเหตุว่าหมายความถึงสภาพนามธรรมที่เกิดร่วมกัน จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่งแล้วก็เห็น ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีใครรู้ ใช่ไหมคะ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมกับจิตในขณะที่เห็น
เพราะฉะนั้นก็มีสภาพของเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า “สัมปยุตต์” ซึ่งเด่น ที่จะทำให้สามารถสังเกตรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตนั้นมีเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย คือ ทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดสัมปยุตต์ ๑ ที่เป็นอกุศล มานะ ที่เป็นสัมปยุตต์ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เวลาที่เกิดมานะ ความสำคัญตน ส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้สึกตัว ใช่ไหมคะ เวลาที่รู้สึกว่า ตัวเองสำคัญ หรือเกิดมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มีความสำคัญตนเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ยังแสดงให้เห็นว่า เราสามารถจะรู้ลักษณะของจิตประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยมานะ แต่ว่ามานะนี่เกิดกับโลภะก็จริง แต่ว่าไม่ได้เกิดเป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ประเภทที่เป็นสัมปยุตต์ สำหรับอกุศลสัมปยุตต์ก็มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ ความเห็นผิด เกิดกับโลภมูลจิต แล้วสำหรับโทสมูลจิตก็มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่ใช้คำว่า ปฏิฆสัมปยุตต์ ที่เรากำลังกล่าวถึง แสดงให้เห็นว่าลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโทสเจตสิก เราสามารถจะรู้ได้ เช่น เวลาที่เกิดโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ขณะนั้นมีใครไม่รู้บ้างไหมคะ กำลังขุ่นใจ ขุ่นเคือง แสดงให้เห็นว่า เพราะมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปยุตต์กับจิต ก็ทำให้เห็นว่าต่างกับจิตเห็น ต่างกับโลภมูลจิต ต่างกับความเห็นผิดที่เกิดกับโลภะ
เพราะฉะนั้นที่เรายกเจตสิกเป็นสัมปยุตต์ ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า เมื่อสภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นสามารถระลึกรู้ได้ ไม่เหมือนผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่เวลานี้ก็ไม่มีใครรู้ลักษณะของผัสสะ แต่พอโทสะเกิดร่วมด้วย ก็สามารถที่จะรู้ได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในอกุศลสัมปยุตต์
ผู้ฟัง ขณะที่เห็น ยังไม่โกรธได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นไม่โกรธ มันก็คนละขณะ
ท่านอาจารย์ คนละขณะ
ผู้ฟัง ใช่ไหมครับ นี่พูดเป็นภาษาธรรมดาๆ ไม่ต้องใช่คำว่า จักขุวิญญาณหรือว่าปฏิฆสัมปยุตต์ ที่ว่าเวลาเห็นมันก็ไม่ได้โกรธ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรสัมปยุตต์
ผู้ฟัง แต่ว่าตอนสัมปยุตต์ เราก็ไม่รู้ ในสภาพของสภาพธรรม
ท่านอาจารย์
จริงๆ แล้วสามารถที่จะรู้ได้ อย่างเช่นเวลาที่โทสะเกิดร่วมกันกับจิตเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ ทุกคนก็รู้ได้
ผู้ฟัง ที่นี้ข้ามจากเห็นแล้วมาเป็นโทสะ อันนี้ชัดมาก เวลาโกรธๆ อันนี้ชัดเหลือเกิน เวลาโกรธ ตัวเนื้อสั่นขึ้นมา หรือว่าตาหูแดง หรือว่าไม่พอใจขึ้นมา นี้เห็นชัดมากตอนโกรธ แต่ว่ามันเลยจากการเห็นไปแล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เลยจากการได้ยินมาแล้ว เป็นสิ่งที่เขาพูดมา เวลาได้ยินแล้ว ไม่ได้โกรธ ตอนได้ยินไม่ได้โกรธ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด เวลารู้ชื่อ โทสะว่าเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ ให้รู้ตัวจริงเวลาโกรธ ให้รู้ว่านี่คือสภาพของจิตที่เรากำลังกล่าวถึง เพราะเหตุว่าไม่ว่าเราจะศึกษาเรื่องจิตประเภทไหนก็ตาม เพื่อรู้ลักษณะของจิตในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะแยกกันโดยสัมปยุตต์ เช่น ปฏิฆสัมปยุตต์ ก็คือขณะที่โทสะเกิดร่วมด้วยกับจิต
ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังครับ ท่านที่มาใหม่คงจะฟังพอจะเข้าใจว่า คนละขณะ สภาพเห็นขณะหนึ่ง สภาพโกรธขณะหนึ่ง แต่ขณะที่โกรธนั้น ก็มี ที่เราเรียกกันว่าเจตสิกเข้ามาสัมปยุตต์ ก็คือเป็นเจตสิกเข้ามาสัมปยุตต์ เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ แต่อย่างไรก็ตามแต่ โกรธเสร็จแล้ว เหตุของการโกรธ ก็มีสาเหตุมา ซึ่งเราก็พูดกันในคราวที่แล้ว ในเรื่องของความไม่พอใจต่างๆ เกิดจากโลภะเป็นต้นเหตุด้วยเหมือนกัน วันหนึ่งๆ เราจะพบแต่เรื่องของความพอใจ และไม่พอใจ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ตลอดเวลา แต่การที่มาพิจารณาสักขณะหนึ่ง ในเรื่องของว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะพิจารณา แต่ถ้าหากว่าท่านได้ฟังธรรมที่ท่านวิทยากรได้พูด ณ ที่นี้ บางครั้งจะเห็นได้ว่าคำพูดที่พูดกันภาษาธรรมดาๆ เป็นเรื่องที่เราประพฤติปฏิบัติได้จริงๆ คือการเห็น อยากเรียนถามท่านอาจารย์นิดหนึ่งครับ เรื่องการเห็น มันมีโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง คิดว่าอาจารย์กำลังจะกล่าวถึง ใช่ไหมคะเรื่องเจตสิกที่บรรยาย
อ.สมพร เจตสิกก็กล่าวไว้แล้ว ที่ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ก็กล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าเจตสิกก็คือธรรมนั่นเอง เกิดร่วมกับจิต แต่ต้องมีธรรม ๗ ประเภท ถ้าไม่มีธรรม ๗ ประเภทเกิดร่วมกับจิต ธรรมคือผัสสะเป็นต้นนี้ ๗ ประเภท ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นบางทีท่านไม่เรียกเจตสิก ท่านเรียกธรรมเฉยๆ ก็ขอให้เข้าใจว่าก็คือเจตสิก ๗ ดวงนี้ ต้องเกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน ขณะนี้เป็นวิบาก กิเลสยังไม่มีเลย
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะมีเจตสิก ๗ ดวงเกิดร่วมด้วย ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้ ใช่ไหมคะ แต่เวลาที่เป็นอกุศลสัมปยุตต์ก็พอสามารที่จะรู้ได้ในประเภทของจิตในวันหนึ่งๆ แล้วทุกคนก็โกรธทั้งนั้นแหละ คงจะไม่มีใครไม่โกรธ แม้แต่ความขุ่นเคืองใจเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ให้ทราบว่า ขณะนั้นคือจิตที่เรากำลังพูดถึง ที่ถามกันว่า ปฏิฆสัมปยุตต์คืออะไร ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโทสเจตสิก
ผู้ฟัง ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นปฏิฆะ ไหมครับ
ท่านอาจารย์ สังเกตได้จากเวทนา ขณะใดที่รู้สึกไม่สุขใจ ไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต ต้องเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ คือต้องมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง รวมทั้งการร้องไห้
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกประเภท
ผู้ฟัง เราทุกคนประสบเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิด
ท่านอาจารย์ จะกลัว จะตกใจ จะเศร้าใจ จะน้อยใจ จะอะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สบาย ให้ทราบว่าคือปฏิฆสัมปยุตต์ ได้แก่โทสมูลจิต