มีโลภะอยู่เบื้องหลัง


    ผู้ฟัง ในการสนทนาครั้งก่อนๆ ท่านอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรก็ได้พูดถึงเหตุที่จะให้เกิดโทสะไปบ้างแล้วว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะ มีความติดข้องแล้ว ที่จะไม่ให้เกิดโทสมูลจิต ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะต้องรู้สมุฏฐานหรือเหตุที่จะให้เกิดโทสะ ซึ่งก็ได้แก่โลภะ เพราะฉะนั้นก็มีประเด็นที่เป็นปัญหาว่า โลภะที่เป็นสมุฏฐานหรือว่าเป็นเหตุให้เกิดโทสะนั้น เป็นเหตุในลักษณะใด ก็มาพิจารณาดูว่า โลภะเป็นสมุฏฐานหรือเป็นเหตุให้เกิดโทสะในลักษณะที่ว่า พอใจ ติดข้อง ต้องการ อยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าพอใจ แล้วไม่ได้ก็เกิดโทสะ อันนี้เป็นลักษณะหนึ่งที่เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว แต่ว่าอีกลักษณะหนึ่งก็คือ พอใจ ติดข้องต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ แล้วก็ได้มาสมใจอยากแล้ว แต่ว่าต่อมาจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไปก็เกิดโทสะ อันนี้ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ทีนี้นอกจาก ๒ ลักษณะนี้แล้วที่โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่ทราบว่าจะมีลักษณะแง่มุมอื่นใดอีกไหมคะ ที่ว่าโลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ท่านอาจารย์สมพรมีอะไรเพิ่มเติมไหมคะ

    อ.สมพร โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้ว เช่นเราได้ยินเสียงด่า แท้จริงก็โลภะอยู่เบื้องหลัง เราอยากได้ยินเสียงเพราะ เสียงเพลง แต่เขาด่าเรา เราโกรธทันทีทันใด ก็เพราะว่าโทสะที่เกิดมาโลภะเป็นปัจจัย แต่ว่าโลภะอยู่เบื้องหลัง ที่ปรากฏจริงๆ มันโทสะเกิดขึ้นมากมาย ถ้าไม่มีโลภะอันนี้ โทสะจะไม่เกิด จึงกล่าวได้ว่าโลภะเป็นปัจจัยให้โทสะเกิด เช่น เสียงด่าเป็นต้น

    ผู้ฟัง ขอประทานโทษอาจารย์ที่ว่า มีโลภะอยู่เบื้องหลัง หมายความว่า จะต้องเกิดโลภะก่อนแล้ว โทสะจึงจะเกิดตามเสมออย่างนั้นหรือคะ

    อ.สมพร โลภะมีอยู่แล้วโดยปกติ แต่ว่าขณะที่เราได้ยิน เราก็มีความปรารถนาอยู่แล้ว อยากจะได้ยินเสียงเพราะ แต่มันสั้นมากจนกระทั่งเรากำหนดไม่รู้ว่ามันมีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่ที่มีอยู่โดยแท้จริงมันนอนเนื่อง มีอยู่แน่ แต่ขณะนี้ที่ปรากฏเกิดขึ้นมันเป็นโทสะ เพราะฉะนั้นเขาจึงกล่าวว่า โลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้กิเลสหรือทุกข์ทั้งหมดเกิดขึ้น โลภะเป็นต้นเหตุ อาจจะเป็นเหตุที่ว่า โลภะนอนเนื่อง หรือเกิดขึ้นแล้วนิดหนึ่งก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุ แต่ขณะที่มันเกิด พอด่าปุ๊บมันโกรธทันทีทันใด แท้จริงจิตเราก็อยากให้เขาพูดดีๆ แต่ก็ไม่แน่อาจจะนอนเนื่อง อันนั้นก็เป็นปัจจัยได้ให้โทสะเกิด เกิดขึ้นแล้วก็มีแต่โทสะ เราไม่รู้เลยว่า โลภะเกิด แต่โทสะมันเกิดนานเรารู้

    ผู้ฟัง แสดงว่าโลภะเป็นมูล เป็นเหตุ เป็นรากจริงๆ ที่จะให้เกิดโทสมูลจิต อาจารย์มีอะไรไหมคะ

    ท่านอาจารย์

    คือว่าถ้าจะศึกษาธรรมให้พิจารณาชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ที่เราชอบ เราชอบอะไร ทุกคนชอบรูป ชอบเสียง ชอบกลิ่น ชอบรส ชอบโผฏฐัพพะ ไม่มีใครปฏิเสธเลย เป็นชีวิตจริงๆ ทุกวัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ว่า อารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ให้ชอบไม่ได้เลย ถ้าประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ต้องไปคิดลึกถึงอะไรเลย แต่ว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า โลภะที่ไหน ก็คือที่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ แล้วถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทสะ ความขุ่นใจ มี นี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของกามบุคคล คือ คนที่เกิดในกามโลก ในโลกมนุษย์ เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา หนีไม่พ้นเลยที่จะต้องเห็น ที่จะต้องได้ยิน ที่จะต้องได้กลิ่น ที่จะต้องลิ้มรส ที่จะต้องกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีอวิชชา ความไม่รู้ในสิ่งที่มีเป็นประจำก็ย่อมมีความติด มีความต้องการ ไม่มีใครสักคนที่จะบอกว่า ไม่ต้องการรูป ไม่ต้องการกลิ่น ไม่ต้องการเสียง ไม่ต้องการรส ไม่ต้องการโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในโลกของกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยโลภะเป็นประจำ เมื่ออารมณ์นั้นเป็นที่น่ายินดี แต่ถ้าอารมณ์นั้นไม่น่ายินดีก็เกิดโทสะ

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี เกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ เสียงไม่เพราะ สีไม่สวย กลิ่นไม่หอม รสไม่อร่อย โผฏฐัพพะที่ไม่น่าสบาย ก็ทำให้เกิดโทสะ เพราะเหตุว่าเราแวดล้อมอยู่ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเราก็ติดในสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นอันนี้จะเป็นเหตุประกอบได้ไหมคะ เพราะว่าสักครู่ได้พูดว่า โลภะเป็นเหตุ เป็นมูลรากที่จะให้เกิดโทสะ ทีนี้คงจะมีเหตุอื่นๆ เป็นเหตุประกอบด้วย อย่างที่ท่านอาจารย์ได้พูดไปเมื่อสักครู่นี้คือว่า ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าเราติดแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง เราติดในอารมณ์ที่ดีๆ แต่พอประสบอารมณ์ที่ไม่ดี เราก็เกิดโทสะ ปฏิฆะ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราก็อยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี

    ผู้ฟัง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเหตุหนึ่งเหมือนกันที่ให้เกิดโทสะ ใช่ไหมคะ


    หมายเลข 9050
    21 ส.ค. 2567