เพราะ เข้าใจสภาพธรรมไม่มากเท่าเข้าใจตัวหนังสือ


    ผู้ฟัง ท่านผู้ใดมีข้อสงสัยไหมครับ เพราะว่าเรื่องของสงสัย ถ้าตราบใดยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น คงต้องสงสัยต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องสงสัยก็เป็นเรื่องที่เราปุถุชนจะต้องศึกษาแล้วคงจะต้องเจริญความไม่สงสัยให้มากขึ้น ทีนี้ความที่จะไม่สงสัย ผมถามท่านเลย เพื่อที่จะได้ไม่ผ่านอันนี้ไป เมื่อคนมีความสงสัยอย่างนี้ ความที่จะไม่มีความสงสัย หรือว่าคลายความสงสัย หรือจะให้หายความสงสัย จะมีวิธีอย่างไร พื้นๆ เพื่อว่า จะได้ให้ท่านผู้ฟังได้เกิดมีกำลังใจ ขอกราบเรียนเชิญอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ รู้สึกต้องการผลเร็ว คืออยากจะหมดความสงสัยหรือว่าให้น้อยลง

    ผู้ฟัง ก็คงให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีได้ก็ดี เพราะว่า

    ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียว ไม่มีหนทางอื่น

    ผู้ฟัง ชาติเดียวไม่มีทางสำเร็จ หมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าสำเร็จก็เป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ต้องเป็นพระโสดาบันเท่านั้นจึงจะคลายความสงสัย ทีนี้ขั้นตอนในการที่จะ เป็นแนวทางที่จะเจริญความไม่สงสัย มีวิธีทางอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมเจริญความรู้ นี่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าขณะนี้ให้ทราบว่า อวิชชาไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นไม่ต้องหนีไปที่ไหน หรือไม่ต้องคิดทำอย่างอื่นเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น ตราบใดที่ไม่รู้ก็จะเกิดความสงสัย

    เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะไม่สงสัยก็คือว่า เข้าใจให้ถูกต้อง ขณะนี้ที่กำลังเห็น เข้าใจให้ถูกต้องคือสภาพที่เป็นนามธรรมมีจริงๆ แล้วสภาพที่เป็นรูปธรรมก็กำลังปรากฏ ขณะนี้ทางตา เพราะฉะนั้น กว่าจะแยกโดยการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ทางตาที่กำลังเห็น ไม่เกี่ยวข้องกับรูปเลย ข้อสำคัญที่สุดให้ทราบว่า นามธรรมกับรูปธรรมแยกกันโดยเด็ดขาดจริงๆ เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ขณะที่เป็นนามธรรมจะไม่มีลักษณะของรูปธรรมเจือปนเลย เพราะฉะนั้น เหมือนกับไม่มีรูปเลย มีแต่นามธรรมในขณะนั้น ต่อเมื่อใดกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏทางตานี่ก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นรูป ที่กำลังปรากฏเวลากระทบสัมผัสก็เป็นรูป

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า นามธรรมเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง แล้วรูปธรรมเป็นปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง เมื่อไรที่ประจักษ์แจ้งชัดอย่างนี้ ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเลย นามก็นาม รูปก็รูป ขณะนั้นก็จะมีความรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม แต่เวลานี้โดยมากอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องการปฏิบัติธรรมเยอะแยะจากหลายๆ แห่ง ก็เลยสับสนปนกัน เพราะฉะนั้น บางคนก็เก็บทุกอย่างมาลองทำดู เพื่อว่าอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล ก็ต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้มาประกอบกัน

    เพราะฉะนั้น บางคนก็พยายามไปหาที่ของธรรม เช่น กำลังเห็น ก็พยายามไปหาที่ว่ามันต้องอยู่ตรงกลางตา หรือว่าเวลาที่ได้ยินก็ต้องอยู่ตรงกลางหู ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม ถ้าเป็นนามธรรมจริงๆ ไม่มีรูปมาเจือปน กำลังเข้าใจในลักษณะอาการที่เป็นสภาพรู้ แล้วถ้าเป็นรูปก็คือรูปปรากฏ ขณะนั้นเป็นลักษณะของรูป ไม่ต้องมีความเป็นตัวเราทั้งตัว ทั้งแท่ง ซึ่งกำลังคิดว่าได้ยินต้องอยู่ตรงหู แล้วก็เห็นก็ต้องอยู่ตรงตา เวลาได้กลิ่นก็ต้องอยู่ตรงจมูก นั่นแสดงว่ายังมีอัตตสัญญา ความจำร่างกายทั้งหมด จนกระทั่งจำว่าจมูกอยู่ตรงนี้ ซึ่งก็หมายความถึง อัตตสัญญา ต้องไม่มีเลย รูปส่วนรูป นามส่วนนามจริงๆ

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ไหมครับ ถ้าหากเราค่อยกำหนดให้อยู่ตรงที่จะพิจารณาแล้ว ก็ไม่สามารถจะพิจารณาได้ ถ้าอยู่ตรงนั้นตรงนี้มันจะชัดเจนขึ้นกว่าที่ว่า ถ้าไม่อยู่ตรงนั้นตรงนี้

    ท่านอาจารย์ โดยมาก ทุกคนจะบอกว่าต้องทำ เหมือนอย่างที่ว่าคุณชวลิตพูด ลองพูดซ้ำอีกทีซิคะ จะจับใจความได้ว่าต้องทำแน่นอน ที่พูดเมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง คือต้องทำความรู้สึกในการที่จะรู้รูปว่า รูปมันอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ต้องทำความรู้สึก เพราะเหตุว่าเป็นหน้าที่ของสติที่ระลึก เพราะฉะนั้น ตัวตนจะแฝงอยู่อย่างชนิดซึ่งต้องค่อยๆ เห็นสภาพที่ยึดถือนามธรรม และรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงจะละการที่มีการจงใจ หรือต้องการ หรือการรู้สึกที่จะทำอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องรูป ไม่ต้องสนใจเลย กำลังแข็ง ลืมโต๊ะ ลืมเก้าอี้ ลืมห้องนี้ ลืมทุกอย่าง นั่นคือมีแข็งกำลังปรากฏ โดยอะไร สติระลึก ไม่ใช่เราต้องไปให้รู้อยู่ตรงแข็งที่โต๊ะ ที่มือ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ก็ยังมีตัวเราซึ่งทำให้อยู่ตรงนั้น แต่ความจริงไม่ต้อง สติระลึกลักษณะที่มี

    เพราะฉะนั้น ความไม่รู้อยู่ที่ว่า เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏไม่รู้ต่างหาก ไม่ใช่ว่าต้องไปทำให้อยู่ตรงนั้นตรงนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังมีการพยายามจงใจทำให้รู้ตรงนั้นตรงนี้ หมายความว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของอัตตสัญญาซึ่งจะต้องละ

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าเราที่จะไปกำหนดเช่นนั้นไม่ตรงกับสภาวะ

    ท่านอาจารย์ ที่เราจะไปกำหนดเช่นนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ถูก

    ผู้ฟัง เป็นตัวตนหมดเลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ที่เราจะไปกำหนดเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า เรื่องของอริยสัจธรรมรอบที่ ๑ คือ สัจญาณ ต้องฟังมากทีเดียว จนกระทั่งรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็สภาพธรรมกำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ไม่ใช่เราจะไปบอกว่า ไม่ทันๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีเราซึ่งไม่ทัน แต่ว่าสภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วเป็นหน้าที่ของสติ ถ้าสติเกิด สติก็ระลึก แต่เมื่อระลึกแล้ว ไม่ใช่ให้ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าระลึกให้ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นคืออัตตสัญญา เพราะฉะนั้น เวลาระลึก ก็คือให้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ตรงนี้ จะอยู่ตรงไหนไม่สำคัญเลย เพราะว่าความไม่รู้จะอยู่ที่ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ความรู้ไม่ใช่ให้ไปรู้ตรงที่หนึ่งที่ใด แต่ให้รู้ลักษณะที่ปรากฏว่าลักษณะนั้นจริงๆ แล้ว เป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีตัวเราซึ่งกำหนด แต่ว่ามีสติที่ระลึกพร้อมสัมปชัญญะที่ค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม โดยตัดสถานที่ ตัดมือ ตัดโต๊ะ ตัดความทรงจำว่า เป็นเก้าอี้ หรือว่าเป็นเราที่กำลังทำอยู่ นั่งอยู่ หรืออะไรทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับทันที นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในเรื่องนี้ก็คงต้องอาศัยการสังเกตสภาวธรรม

    ท่านอาจารย์ การฟังให้เข้าใจแล้วรู้ว่า ขณะใดสติเกิด แล้วขณะใดหลงลืมสติ แล้วพอสติเกิด ก็อย่าได้ไปให้ตรงนั้นตรงนี้ เพราะเหตุว่านั่นผิด เป็นอัตตสัญญา แต่ว่าเมื่อสติเกิดแล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมไม่มีรูปธรรมเจือปนเลย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ส่วนลักษณะของรูปก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม

    ผู้ฟัง แล้วสภาพสติที่รู้ลักษณะของนามธรรม จะรู้ จะรู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือ เวลานี้ความไม่รู้ ไม่รู้ในรูปธรรมว่าเป็นนามธรรม ที่ว่าไม่รู้ในรูปธรรม ฟังดูเหมือนว่าไม่น่าจะจริง ก็มีรูปธรรมปรากฏ แต่ที่ว่าไม่รู้ เพราะเหตุว่าเวลาที่รูปธรรมปรากฏ มีความทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ เช่น พอเห็นก็มีความทรงจำว่าเป็นคน เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่า ตั้งตรงนั้นตรงนี้ แต่ให้รู้ว่า นี่เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง แล้วก็สภาพรู้ก็เหมือนกัน ก็เป็นสภาพที่เพียงรู้ แล้วแต่สติจะระลึก ขณะที่คิด ไม่มีที่อยู่ อย่าไปพยายามหาที่อยู่ให้คิดว่า ต้องอยู่กลางหัวใจ หรืออะไรอย่างนั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นก็ยังมีตัว แล้วก็ยังมีหัวใจ แต่ว่าเวลาที่สภาพคิดเกิดขึ้น แล้วก็มีการเข้าใจขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่คิด ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วคิด ไม่ว่าจะเมื่อไรก็ตาม ที่ไหนก็ตาม เกิดขึ้นแล้วคิด เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปร่าง คิดไม่มีรูปร่าง

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเรื่องนี้ไม่เข้าใจ ความสงสัยในเรื่องสภาพตัวตน คนเขา เราสัตว์นั้น ก็คงต้องมีอยู่มากขึ้นๆ ถ้าหากว่าไม่เข้าใจสภาพอย่างนี้เสียก่อน เพราะฉะนั้น ในเรื่องรูปของพระพุทธเจ้าก็ตามแต่ รูปของพระสงฆ์ก็ตามแต่ หรือว่านิมิตต่างๆ ที่ท่านทั้งหลายได้มีนิมิตจากการที่ได้ทำสมาธิก็ตาม เห็นนิมิตเป็นรูปของพระต่างๆ มาโปรด เห็นพระพุทธเจ้าบ้าง เห็นอะไรต่างๆ ท่านจะได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่า สิ่งที่ปรากฏเหล่านั้น เกิดขึ้นจากที่ท่านไม่เข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็คงจะเป็นแนวความคิดที่ทำให้ท่านทั้งหลายสามารถที่จะเข้าใจที่ว่า โย ธัมมัง ปัสสติ โส มัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็คงเห็นตถาคต

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าการศึกษาทั้งหมดจะไร้ประโยชน์ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาพระพระอภิธรรม พระวินัย พระสูตร หรือเรื่องราวอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า ปัญญาจริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องจิต หรือลักษณะต่างๆ ของจิต ก็เพื่อที่จะให้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้มีการระลึกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้ เป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะเหตุว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ แต่พูดเท่าไรก็ยังไม่ค่อยจะเข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้น แล้วก็เริ่มเข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าเราได้ฟังมามากแล้วว่า สติเป็นสภาพที่ระลึก ไม่ใช่เราที่จะกำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเมื่อสติระลึกแล้วก็คือว่า จะต้องมีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมายความว่าเริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็จะเห็นชัดจริงๆ ว่า จะเข้าใจมากไม่ได้เลย แม้ว่าฟังมามาก เข้าใจตัวหนังสือมาก แต่ว่าความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไม่มากอย่างที่เข้าใจตัวหนังสือ

    เพราะฉะนั้น ก็จะทราบได้ว่า การศึกษานั้นก็มี ๒ ขั้น คือ ขั้นฟังเรื่องของสภาพธรรมกับขั้นที่ศึกษาพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบประโยชน์สูงสุดของการฟัง ซึ่งทิ้งไม่ได้เลย เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้


    หมายเลข 9057
    21 ส.ค. 2567