ตั้งต้นที่ธรรมที่มีจริงๆ


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายในเรื่องส่วนของแนวความคิดในเรื่องว่า เมื่อท่านไปปฏิบัติแล้วกับที่ท่านเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน จะเกื้อกูลในการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เจริญ รู้สภาพตามที่เป็นจริงได้อย่างไร ความสงสัยจะได้ทุเลาลงไป

    ท่านอาจารย์ เรื่องความเข้าใจคงไม่มี แต่ตอนที่สติเกิด ต่างคนต่างก็จะรู้ว่า ปัญญาของตัวเองค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ สติระลึกนิดเดียว แล้วก็หมด ไม่มีความยึดถือ สภาพธรรมว่า เป็นตัวตนเลย ถ้าใครบอกว่าอย่างนั้นจะถูกได้ไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ทุกท่านก็ทราบ เมื่อเวลาที่สติเกิดไม่บ่อย แล้วการที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นเรื่องละเอียด ต้องเป็นเรื่องเบา ไม่ใช่เป็นเรื่องความต้องการ จงใจ จนเหนื่อย จนหนัก จนเบื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องการอบรมจริงๆ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์อยู่เรื่องหนึ่งว่า ในการที่เรามาศึกษาพระอภิธรรม ตั้งแต่เริ่มแรกเลยก็ไม่มีตัวตนแล้ว คือ เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิตก็ตาม ของเจตสิกก็ตาม เราก็เห็นจริงๆ ว่า ไม่มีตัวตน ทีนี้การที่ศึกษาพระอภิธรรม จะช่วยคลายให้เกิดความรู้สึกในเรื่องความสงสัยลงไปได้มากแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจเรื่อง นี่แน่นอน แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมกำลังปรากฏเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว คือตัวจริงๆ ของสภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม แต่ว่าเข้าใจเรื่องราวหมด จิตมีเท่าไร วิริยเจตสิกมีลักษณะอย่างไร สติมีลักษณะอย่างไร ก็เข้าใจเรื่องราว แต่เวลาที่สภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ เป็นเรื่องที่ผู้นั้นจะรู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ สติระลึกแล้วก็มีเข้าใจขึ้นบ้างไหม แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจขึ้น หรือสติยังไม่ระลึก ก็ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ศึกษาพิจารณา ไตร่ตรองเรื่องของสภาพธรรมมากขึ้น เพื่อว่าเวลาสติเกิดระลึก ก็จะได้มีปัญญาพอที่จะเข้าใจสภาพซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง คงจะเป็นเพราะว่าที่เราศึกษาพระอภิธรรม อาจจะเป็นเพราะจุดๆ นี้กระมัง เรียนพระอภิธรรมแล้ว จึงมีความรู้สึกว่ายาก ยากมาก เพราะเหตุว่าในรายละเอียดมีมากทีเดียว ที่เราเรียนมาเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นเอง ๓ - ๔ ปีที่เราเรียนมานี้ ยังไม่ได้อะไรเท่าไรเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเรียนไม่ให้เบื่อ ก็คือเรียนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม คืออย่าไปมุ่งที่ตัวหนังสือหรือที่ตำรา อย่างขณะนี้เราอาจจะไม่ต้องใช้หนังสือเลย เพียงการฟังให้เข้าใจว่า สภาพธรรมมี ๒ อย่าง จริงไหม ลักษณะที่เป็นนามธรรม มีแน่นอน เพราะเหตุว่าอย่างโต๊ะ เก้าอี้พวกนี้ แข็ง อ่อนพวกนี้ ไม่ใช่สภาพรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น สภาพรู้มีจริงๆ แล้วรูปธรรมก็มีจริงๆ คือ ตั้งตนด้วยธรรมที่มีจริง แล้วธรรมที่มีจริงก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วต่อไปเราก็จะได้บอกว่า นามธรรมก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะที่เราเข้าใจว่า เป็นจิตอย่างเดียว ยังมีสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดกับจิตด้วย

    อย่างนี้เราก็ไม่เห็นต้องไปท่อง แล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจด้วย เพียงแต่ว่ามีชื่อ ใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างนามธรรม แล้วเราก็มาขยายว่านามธรรมไม่ใช่มีแต่เพียงจิต ที่เราใช้คำว่าจิตใจ แต่มีสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งถ้าเป็นชาวมคธ เข้าก็ใช้คำว่าเจตสิก เจตสิกกัง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าภาษาไทยเราก็จำเป็นที่จะต้องใช้คำนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง ก็รู้จิต เจตสิก รูป แค่นี้ก็ทั้งหมดของพระไตรปิฎก หมายความว่าไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรก็ จะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้น จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของจิต ในลักษณะของเจตสิก ในลักษณะของรูป อย่างที่กำลังเห็น พูดถึงเห็น เป็นลักษณะของจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คือ อารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยิน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องโกรธ เรื่องชอบ เรื่องขยัน เรื่องดีใจ เพราะฉะนั้น เพียงพูดถึงสภาพที่ได้ยิน เราก็รู้ได้ว่าหมายความถึงจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งจิตประเภทนี้ ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ใช้คำว่าโสตวิญญาณัง หรือว่าเราก็เรียกว่าโสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน อาศัยหู ถ้าเป็นจิตเห็นก็เป็นจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    นี่ก็เป็นการที่จะเข้าใจเรื่องจิต แล้วเราก็จะเข้าใจต่อไปอีกถึงเหตุถึงผล คือพยายามจะให้เข้าใจในเรื่องเหตุผลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการที่จะจำชื่อ ซึ่งการเข้าใจในเรื่อง เหตุผล และสภาพธรรมกำลังปรากฏ จะทำให้เรารู้ว่าถ้าสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจริงๆ ก็คือรู้ธรรมในพระไตรปิฎก ไม่ใช่รู้เพียงชื่อ แต่ถ้าตราบใดยังไม่รู้อย่างนี้ เป็นชื่อทั้งหมด


    หมายเลข 9059
    21 ส.ค. 2567