ทำไมต้องแสดงโดยละเอียด ๑


    ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ นั้นนะท่านอาจารย์ ผมอ้างตำรา อาจจะผิดหรือจะถูกอย่างไร ที่เขียน พิจารณามาเพื่ออะไร ประเด็นที่เขียนว่า รูป หมายถึงรูป ๒๘ รูป อันนี้ถูกไหมครับ อาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ

    ผู้ฟัง แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร ท่านบอกว่าเกิดจากผัสสะ หมายความว่าจะต้องมีสภาพธรรมกระทบก่อน สภาพธรรมทั้ง ๓ จึงจะเกิดขึ้น แล้ววิญญาณท่านบอกว่า เกิดจากนามรูป ๓ ประเด็นนี้เราควรจะเอามาคิดแตกแยกกันหรือเปล่า หรือว่าไม่จำเป็น

    ท่านอาจารย์ อันนี้หมายความถึงเหตุใกล้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ เหตุใกล้

    ท่านอาจารย์ ความจริงแล้วสภาพธรรมเกิดร่วมกัน ทั้งจิต และเจตสิก ผัสสะจะเกิดนอกจากจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า ขณะที่ผัสสะเกิด จะมีจิต เจตสิก เกิดเพราะผัสสะอย่างเดียว เพราะเหตุว่าจิตกับเจตสิกต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาอ่านต้องเข้าใจว่าเมื่อยกสภาพธรรมหนึ่งขึ้นมา แสดงลักษณะ แล้วแสดงกิจ แล้วแสดงอาการปรากฏ แล้วแสดงเหตุใกล้ของสภาพธรรมนั้น ที่คุณเสกสรรกล่าวหมายความถึงเหตุใกล้ให้เกิด เพราะว่าเหตุใกล้ให้เกิด สัญญาก็ตาม เวทนาก็ตาม พวกนี้ต้องมีผัสสะเป็นเหตุใกล้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอย่างอื่นจะไม่เป็นเหตุด้วย แต่ว่าเฉพาะอย่างๆ มีอะไรเป็นเหตุใกล้ แต่ต้องเกิดด้วยกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นกระผมก็อยากจะขอกราบเรียนถามความเห็นของท่านอาจารย์ ที่ได้กรุณาแยกน้ำว่าเป็นจิต แล้วก็มีสีใส่เข้าไปในน้ำ ซึ่งถ้าเรามองโดยสามัญสำนึก มันจะมองเห็นภาพในลักษณะนี้ว่า ความจริงแล้วเราเห็นสีชัดเจนที่สุด แต่น้ำมันก็มีสี ไม่ใช่ไม่มีสี

    ท่านอาจารย์ โดยมาก คนชอบอะไรที่ง่ายๆ เพราะคิดว่าพอเห็นน้ำมีสี ก็ง่ายดีที่จะ เข้าใจจิต เจตสิก แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถ้าพยายามที่จะให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมมี ๒ อย่าง แล้วก็อย่างหนึ่งเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่กำลังเป็นอารมณ์ แล้วส่วนรูปนั้นไม่ใช่สภาพรู้ แค่นี้ หมายความว่าไม่ต้องไปเปรียบกับอะไรเลย แต่ให้เขาเข้าใจจริงๆ ขณะนี้มีไหม สภาพที่เป็นสภาพรู้ แล้วก็สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้มีไหม ให้เขาสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏให้ได้ เพราะว่ากำลังมีอยู่ แล้วไม่คลาดเคลื่อน อย่างเห็น ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏ จะบอกว่าไม่เห็นแสงสว่างไม่ได้

    ผู้ฟัง ถูกต้องครับ ความจริงที่อาจารย์อธิบายชัดเจนอยู่แล้ว แต่กระผมคิดว่า ผมว่าหลายท่าน คือ ถ้าเราพูดในเรื่องบัญญัติ เราคิดว่าเราเข้าใจ แต่ถึงสภาวะจริงๆ แล้ว มันจะสับสนในแง่ที่ว่า กระผมจะใคร่ยกตัวอย่าง อย่างเช่นธาตุรู้ กับ สภาพรู้ ซึ่งกระผมคิดว่า มันก็รู้เหมือนกัน แต่ลักษณะของธาตุรู้นั้น กระผมเข้าใจว่าจะต้องเป็นขั้นวิปัสสนาญาณแล้วใช่ไหมครับ ถึงจะรู้ว่า ลักษณะของธาตุรู้ต่างกับสภาพรู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า อาการรู้ อีกได้ไหมคะ ไม่มีรูปร่างเลย เป็นแต่เพียงอาการหรือว่ากิจของเขา ก็คือ รู้ เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่าสภาวะหรือสภาพ หมายความว่าสิ่งที่มีจริง แล้วเวลาใช้คำว่า “ธาตุ” ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มีจริงนั้นไม่ใช่ตัวตนหรือไม่ใช่ของใคร จะว่าเป็นของคนหนึ่งคนใดในที่นี้ไม่ได้เลย ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วธาตุชนิดก็จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ละขณะๆ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง นี่แหละครับ ถ้าเราพูดโดยบัญญัติ เราก็เข้าใจโดยลักษณะหนึ่ง มันต่างกันไหมครับ กับคำว่าน้ำใส่สี อะไรเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดถึงน้ำเลย ขณะนี้ไม่ได้มีน้ำ แต่มีเห็น

    ผู้ฟัง ครับ มีเห็น ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเข้าใจว่า ความรู้สึกมีไหม ความจำมีไหม สภาพที่เห็นมีไหม สภาพที่ได้ยินมีไหม ที่จะเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ที่จะแยกออกจากรูป เพราะเหตุว่ารูปปรากฏให้เห็น แต่ตัวเห็น หรือตัวรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็นจริงๆ ขณะนี้ อันนี้คืออาการของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นสภาพที่สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน สามารถที่จะรู้อะไรได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรซึ่งธาตุรู้จะรู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตเป็นธาตุรู้ซึ่งรู้ทุกอย่างได้

    ผู้ฟัง ทีนี้มันก็จะมีคำถามต่อไปอีก อย่างที่อาจารย์อธิบาย กระผมกราบขอบพระคุณอย่างยิ่งกระผมเข้าใจ แต่ว่ามันมีอีก แล้วทำไมมันแยกเป็นขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ นี้แหละครับ ทำให้แยกกันว่า น้ำมีสีมีอะไร ต่างๆ ใช่หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่แยกเป็นน้ำมีสี คือขอให้ทุกคนตั้งต้นที่สภาพธรรมในขณะนี้ เพราะว่าการศึกษาปรมัตถธรรมจะมีประโยชน์มาก ถ้าสามารถจะทำให้มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แทนที่เราจะไปเสียเวลาอ้อมค้อมด้วยตัวหนังสือหรืออะไร แต่ว่าเราอาจเรียนโดยอีกนัยหนึ่ง คือเข้าใจสิ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ แยกเป็นนามธาตุกับรูปธาตุก่อน

    มีใครสงสัยในลักษณะของนามธาตุกับรูปธาตุก่อนไหมคะ เรายังไม่พูดว่าเป็นจิต เจตสิก หรือขันธ์ อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าทุกอย่างในโลกนี้ หรือโลกไหนๆ ก็ตาม สภาพที่มีจริงๆ จะต่างกันออกไป ๒ ประเภท คือ นามธรรมกับรูปธรรม ยังไม่แยกอะไรเลย อันนี้มีใครสงสัยหรือว่าไม่เข้าใจไหมคะ ดูเหมือนง่าย จริงๆ แล้วโดยการฟังเข้าใจได้ว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ อย่างแข็งก็เป็นลักษณะที่แข็ง เสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้น เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างเลย เป็นแต่เพียงธาตุหรืออาการรู้ หรือสภาวธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วธาตุชนิดนี้สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเฉพาะอย่างๆ อย่างทางตาที่กำลังเห็นก็ต้องอาศัยจักขุปสาท นี่แน่นอน เพราะว่าคนตาบอดไม่เห็น แต่ว่าก็ต้องมีจิตโยงไปตั้งแต่ปฏิสนธิจิต นั่นก็ส่วนหนึ่ง เราไม่กล่าวถึงเพราะว่าเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ให้ทราบว่าในขณะนี้เอง ทุกคนกำลังได้ยินเสียง สภาพรู้เสียงไม่ใช่เกิดได้ยินก่อน แต่ว่าเมื่อเสียงกระทบโสตปสาท เป็นปัจจัยให้มีธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วก็ดับ

    นี่คือความจริงของธาตุชนิดนั้นซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ ถ้าเราแยกเป็นรูปธาตุกับนามธาตุ ก็พอจะระลึกได้ แล้วก็แยกเป็นจิตกับเจตสิก เพิ่มจากนามธาตุแยกเป็น ๒ คือ สภาพรู้หรือธาตุรู้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตซึ่งเห็น ถ้าพูดถึงจิต หมายความว่า หมายความว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ อย่างเช่นเห็น พูดถึงเห็นอย่างเดียว ไม่ได้พูดถึงความรู้สึกเลยว่า ชอบไหม โกรธไหม อะไรไหม ไม่ได้พูดอะไร พูดถึงเห็น เฉพาะเห็น นั่นคือลักษณะอาการของจิต พอที่จะเข้าใจได้ว่า แยกจากเจตสิก เพราะอันนี้คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ส่วนสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดกับจิต แล้วก็ไม่ได้เกิดเสมอไป เช่นความรู้สึก บางครั้งดีใจ บางครั้งเสียใจ บางครั้งเฉยๆ

    เพราะฉะนั้นนั่นเป็นสภาวธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิตทำให้รู้สึกเป็นอย่างนั้นในขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การคิดนึก การรู้อารมณ์ต่างๆ

    นี่แสดงให้เห็นว่านามธาตุไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตอย่างเดียว แต่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็เจตสิกต่างกันไปเป็น ๕๒ ประเภท ทำให้จิตต่างกันไปเป็นประเภทต่างๆ แต่เราก็ศึกษาจากชีวิตประจำวัน นี่ ๒ แล้วนะคะ แล้วเดี๋ยวจะแยกเป็นขันธ์ ก็คือปรมัตถธรรม ๔ ตอนนี้เราไปได้ ๓ แล้ว จิต เจตสิก รูป นิพพานยังไม่ต้องกล่าวถึง

    เพราะฉะนั้นจิต เจตสิก รูปนี้แหละในชีวิตประจำวัน ทำไมต้องแสดงโดยละเอียด ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา แสดงสั้นๆ สามารถที่จะประจักษ์จริงๆ ในลักษณะของธาตุที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่เพราะเหตุว่าผู้ฟังมีหลายอัธยาศัย บางคนก็ต้องอาศัยการฟังมากๆ แล้วก็การพิจารณามากๆ ข้อความในพระไตรปิฎกที่บอกว่า เมื่อท่านผู้นั้นบวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัต ไม่นานของท่าน จะทราบว่า ๖๐ ปีก็มี ๒๐ปีก็มี นานกว่านั้นก็มีอีก แต่ว่าข้อความในพระสูตรจะแสดงว่า บวชแล้วไม่นาน ทำให้คนในสมัยนี้อยาก เหมือนกับฟังแล้วไม่นาน ก็คงจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งทุกคนที่ศึกษาธรรม ต้องเป็นผู้ตรง เพราะเหตุว่าคุณธรรมของพระโสดาบันนั้น คือ อุชุปฏิปันโน สภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่มีใครเลย ซึ่งเป็นคนมีปัญญาจะหลอกตัวเองว่า รู้แล้ว ว่ากำลังเห็นลักษณะเห็นเป็นสภาพรู้อย่างไร แยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างไร แล้วในขณะที่กำลังเห็นก็มีสภาพธรรมที่ได้ยินเกิดขึ้น ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่าไม่ดับไปเลย

    นี่แสดงให้เห็นว่า เริ่มเข้าใจชีวิตจริงๆ โดยที่ไม่มีการหลอกตัวเองเลย เพราะฉะนั้นการที่ใครที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้ทราบว่า ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เพราะถ้าคิดว่าจะไปทำอย่างอื่น ลืมเสียอีกแล้วว่า ขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมที่กำลังเกิดปรากฏตามความเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือฟัง ให้ค่อยๆ เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม แล้วสติก็จะระลึก แล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้นอีก นี่เป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่ให้ทราบว่าเวลานี้เรากล่าวถึงนามธรรมซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ไม่มีข้อสงสัยใช่ไหมคะ ไม่ต้องเอาเรื่องน้ำเรื่องสีมาเลย


    หมายเลข 9066
    21 ส.ค. 2567