วิจิกิจฉา
ผู้ฟัง กระผมเข้าใจว่า เราคงจะเข้าใจความหมายคำว่า วิจิกิจฉา ดีขึ้น และกระผมคิดว่าข้อสงสัยที่เรากำลังพูดถึงนี้ ที่อาจารย์กำลังอธิบายนี้ ถือว่าเป็นความหมายอยู่ในวิจิกิจฉาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ให้รู้ขันธ์ครบ ๕ แล้วยังไม่หมด ก็ต้องแสดงต่อไปอีกถึงธาตุ ถึงอายตนะ ถึงทุกอย่างครบถ้วนในพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง แล้วยังต้องรู้ว่า สภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนอีก
ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องศึกษามาก ต้องเป็นพหูสูต ใครก็ตามที่คิดว่าไม่เป็นผู้ฟัง แล้วก็สามารถที่จะละกิเลสได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าฟังแค่นี้ยังละกิเลสไม่ได้ ก็ยังต้องฟังต่อไปอีก ฟังเรื่องนี้ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องฟังต่อไปอีก จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
อ.กฤษณา ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ คืออาจารย์ได้กรุณาทบทวนเรื่องปรมัตถธรรม นามธรรม รูปธรรม แล้วก็ขันธ์ ๕ ซึ่งในวิจิกิจฉา ๘ อย่าง ก็มีอยู่ ๓ อย่างที่เป็นความเคลือบแคลงสงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต และที่เป็นทั้งอดีต และอนาคต ซึ่งท่านอาจารย์ก็กรุณาให้ความรู้ และทบทวนเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ให้แล้ว ก็คิดว่า คงจะช่วยละคลายความเคลือบแคลงสงสัยที่เป็นวิจิกิจฉาได้
ต่อไปก็จะกลับมาที่เรื่องของลักขณาทิจตุกะของวิจิกิจฉา ซึ่งได้สนทนากันไปแล้วในลักษณะของวิจิกิจฉาที่มีความสงสัยเป็นลักษณะ สำหรับเนื้อความต่อไปก็เป็นกิจ หน้าที่ของวิจิกิจฉา มีความหวั่นไหวในอารมณ์เป็นกิจ หน้าที่ คือ เมื่อจิตที่สัมปยุตต์ด้วยวิจิกิจฉาเจตสิก รับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำไมจึงหวั่นไหว ทั้งๆ ที่จิตแต่ละขณะก็รับอารมณ์ทีละอย่าง
อ.สมพร กิจของวิจิกิจฉา ก็อย่างที่กล่าว แต่ว่ามันเป็นอย่างนี้ครับ เพราะว่าอารมณ์ที่ตัดสินว่า เป็นอย่างนั้นๆ มันไม่มี เพราะว่าคล้ายๆ เหมือน ๒ อารมณ์ปรากฏกับจิต คล้ายๆ ว่าอย่างนี้อย่างหนึ่ง อย่างนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ทางไหนกันแน่ คล้ายๆ ว่ามี ๒ อย่างปรากฏพร้อมกันในขณะนั้น อารมณ์ของวิจิกิจฉาเป็นเช่นนั้น จิตจึงไม่มั่นคง มีความหวั่นไหว
อ.กฤษณา คุณเสกสรรมีอะไรอีกคะ
ผู้ฟัง หวั่นไหว นี้น่าสงสัย มันเป็นไปได้ไหมว่า ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน ในขณะนั้น ขณะที่สติเกิด แล้วก็มีความลิงโลดใจเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสภาพธรรมที่เราอยากรู้ อะไรอย่างนั้น สติก็ดับสูญไป โลภะเข้ามาแทนที่ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ ที่ว่าหวั่นไหว
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องจริง คือว่าจะต้องมีกุศลจิตกับอกุศลจิตเกิดสลับกัน แม้แต่ขณะที่สติเกิด สั้นนิดเดียว แล้วตัวตนก็ดีใจ ให้ทราบว่า ที่กำลังดีใจ ตัวตนดีใจ เราก็เริ่มจะเห็นโลภะ คือ อริยสัจธรรมต้องเห็นครบทั้ง ๔ ถึงจะเป็นการรู้แจ้งจริงๆ ไม่ใช่เห็นแต่ทุกข์อย่างเดียว แต่ต้องรู้ด้วยว่า ขณะใดที่เป็นสติที่เกิด ขณะใดที่หลงลืมสติ แล้วจะรู้ได้เลยว่า ขณะที่สติเกิดน้อยมาก เพราะเหตุว่าความเป็นตัวตนจะแทรกเข้ามาเลย อย่างดีใจ ดีใจอยู่นาน แล้วก็ยังคิดจะปล่อยอีก คือ เป็นเรื่องของความคิดที่ติดตาม แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ขณะนั้นจะยิ่งเห็นว่า ขณะที่สติเกิด เป็นการที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมขณะนั้น หรือลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือจุดประสงค์ แต่ว่านอกจากนั้นสติจะดับไป หรือจะมีอะไรปรากฏ หรือจะเป็นความยินดีก็ตามแต่ ถ้าเป็นสติที่มีกำลังก็สามารถที่จะระลึกได้ในขณะนั้นต่อไปว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า เป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าเรื่องที่สติจะต้องรู้ จะต้องระลึก แล้วปัญญาต้องรู้ทั่วขนาดไหน ถ้าไม่ทั่วจริงๆ ไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่าตัวตนจะเข้ามาตลอด
ผู้ฟัง ครับ มันจะติดทางใดทางหนึ่งถ้าเราไม่รู้ทั่ว ใช่ไหมครับ มันติดในรูปธรรมนามธรรมอยู่ตรงไหน เราอาจจะรู้ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแต่พอทางตา เราก็แยกไม่ออกเสียทีว่า รูปธรรมนามธรรมเป็นอย่างไร แล้วก็ทำให้เมื่อ วิจิกิจฉาเกิดขึ้น ก็เรียกว่าเป็นอกุศลหรือเปล่าก็ไม่ทราบในขณะนั้น หมายความว่า เกิดการตรึก การพินิจพิจารณา แล้วก็เป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปัจจัตตัง ใช่ไหมคะ รู้เฉพาะตน เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะของใครเกิดเมื่อไร ก็สามารถที่จะรู้ความละเอียดของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนั้นได้ แม้โดยขั้นหยาบก่อน คือเห็นว่า สภาพธรรมมีสติ แล้วก็หลงลืมสตินาน แล้วระหว่างหลงลืมสติก็มีอะไรตั้งหลายอย่างแต่ว่ามีความเป็นตัวตนคิดถึงสิ่งที่กำลังมี ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม
อ.กฤษณา สำหรับเนื้อความอีกประการหนึ่งของวิจิกิจฉา คือ อาการปรากฏหรือผลของวิจิกิจฉา ก็มีความตัดสินใจในอารมณ์ไม่ได้ ท่านผู้ร่วมสนทนามีปัญหาในข้อนี้ไหมคะ
ผู้ฟัง ผมคิดว่าที่ท่านผู้ดำเนินรายการพูดก็จริงเหมือนกัน ในลักษณะที่ว่า เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้น แน่นอนมันก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ คือคำว่าตัดสินใจไม่ได้ กระผมคิดว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น เมื่อมีสภาวธรรมที่เขากำลังเพียรภาวนาอยู่ ซึ่งยังไม่รู้ชัดในขณะนั้น
อ.กฤษณา ทีนี้ท่านอาจารย์ขอว่า ให้ใช้คำว่าสงสัยคำเดียว ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ที่เป็นความหวั่นไหว หรือว่าเป็นอาการปรากฏที่ตัดสินใจไม่ได้ ขอให้ใช้คำว่าสงสัยคำเดียวพอ
ทีนี้ก็ไปลักษณะประการที่ ๔ ที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ก็มี อโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุใกล้ อันนี้ถ้าจะใช้คำว่าสงสัยอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะพูดถึงเหตุใกล้ อะไรเป็นเหตุใกล้ คือ อโยนิโสมนสิการ
ทีนี้ใคร่จะขอนำเสนอ ข้อความบางตอนในคัมภีร์สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์แปล ได้แสดงไว้ว่า วิจิกิจฉาเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสงสัย วิจิกิจฉานั่นเองชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย เพราะความเป็นเหตุแห่งความสงสัยบ่อยๆ เมื่อให้อโยนิโสมนสิการในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยนั้นเป็นไปให้มาก วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้นของวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วดังนี้
ข้อความตอนนี้ ดิฉันมีปัญหาที่จะขอเรียนถามท่านอาจารย์ผู้เป็นวิทยากรก็คือว่า ข้อความที่ว่า การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ คำว่า การทำ คือคำว่า อโยนิโสมนสิการ ยังจะต้องทำอีกหรือเปล่า อันนี้ก็ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยให้ความกระจ่าง
ท่านอาจารย์ ที่จริงเมื่อฟังคุณกฤษณากล่าวมาทั้งหมด ข้อความในสัมโมหวิโนทนี น่ากลัว คือว่าชวนกันสงสัยก็ยิ่งต้องเพิ่มความสงสัย ทั้งหมดที่คุณกฤษณาอ่านมานี้ ลองทบทวนดู เหตุที่จะให้เกิดวิจิกิจฉา
อ.กฤษณา วิจิกิจฉาเกิดขึ้นด้วยอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายมี ถ้าเราจะศึกษาในเหตุในผลด้วยดี แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะไม่ทำให้เราสงสัย แต่คนที่ช่างสงสัย ชวนสงสัย แทนที่จะศึกษาด้วยดีในเหตุในผล ก็ไปสงสัยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วก็ชวนกันสงสัยต่อไปตลอดเลยคะ นี่ก็เป็นเหตุให้ความสงสัยเพิ่มขึ้น
อ.กฤษณา เป็นอโยนิโสมนสิการใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอโยนิโสมนสิการก็ไม่ต้องทำ ถ้าชวนกันสงสัยก็เป็นอโยนิโสมนสิการ
ท่านอาจารย์ ไม่มีการทำ
อ.กฤษณา ไม่มีการทำ แต่ในนี้ใช้คำว่าการทำให้มาก
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เราทำ
อ.กฤษณา ไม่ใช่เราทำ ขอบคุณค่ะ