อุทธัทจะ


    ผู้ฟัง กระผมขอกราบเรียนถามอาจารย์ว่า ในเรื่องของอุทธัจจะนั้น ในสภาพธรรมแล้ว ที่ว่ามีความสำคัญมากนี้ แม้กระทั่งโลภะเองก็อาศัยอุทธัจจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะเข้าไปสังเกตในโลภะก็ได้ หรือว่าโทสะก็ได้ อาจารย์คิดว่าความสำคัญอันนี้เกิดขึ้นอย่างไร เพราะว่าโดยทั่วๆ ไปแล้วเรารู้ยากจริงๆ เพราะว่าเราได้คุยกันมาแล้วว่า ไม่รู้จริงๆ ว่า สภาพที่เราเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึกอะไรก็แล้วแต่ เราก็ฟุ้งไปตามความรู้สึกต่างๆ ที่เราเกิดความรู้สึกอยากจะคิดขึ้นมา ก็คิดกันไป บางครั้งอยากจะบ่นเพ้อรำพัน เราก็บ่นเพ้อรำพันไป หรือว่าอยากจะคิดปรุงแต่งวางแผนอะไรก็วางแผนไป โดยที่ว่า เราไม่รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นอุทธัจจะ เป็นโมหะอุทธัจจะ อันนี้อยากให้อาจารย์ได้ขยายความให้เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ปนกันระหว่างอุทธัจจเจตสิก กับ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตตจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอุทธัจจเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิกประเภทที่สาธารณะกับอกุศลจิตทุกประเภท ต้องทราบว่า อกุศลเจตสิกมีทั้งหมด ๑๔ ชนิด สำหรับอกุศลเจตสิก ๔ ประเภท หรือ ๔ ดวง ได้แก่ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็นอกุศลเจตสิกที่ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง นี่คืออุทธัจจเจตสิก แต่ที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้หมายความถึง โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตตจิต หรือว่าหมายความถึงอุทธัจจเจตสิก

    ผู้ฟัง หมายความถึงโมหะที่สัมปยุตต์ด้วยอุทธัจจะ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วต้องทราบเวลาที่อกุศลจิตเกิด เมื่อไม่ปราศจากอกุศลเจตสิก ๔ ดวงนี้แล้ว ก็ยังแล้วแต่ว่าขณะนั้นมีอกุศลเจตสิกประเภทใดเกิดร่วมด้วย ถ้ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ลักษณะของอุทธัจจะจะปรากฏยาก อย่างเวลาที่เราเกิดความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความติดข้องมีความพอใจ ลักษณะของความติดข้องต้องการซึ่งเป็นโลภะ จะเห็นชัดกว่าลักษณะของอุทธัจจเจตสิก หรือโมหเจตสิก หรืออหิริกเจตสิก หรืออโนตตัปปเจตสิก แต่ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่กาล เพราะเหตุว่าบางกาล ลักษณะของอหิริกะก็อาจจะมาก แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่ระลึกได้ตามความเป็นจริง จึงจะรู้ว่า ลักษณะของอกุศลขณะนั้น ลักษณะของอกุศลประเภทใดปรากฏ อย่างเวลาที่กำลังตื่นขึ้นมาแล้วก็คิดโครงการต่างๆ พวกนี้ จะกล่าวว่าลักษณะของอุทธัจจะปรากฏก็ยาก เพราะเหตุว่าคิดด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แม้ลักษณะของโลภะก็ยังไม่ปรากฏ เพราะว่ามีความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้จักสภาพธรรมโดยชื่อ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ เพราะว่าเวลาที่อกุศลเจตสิกเกิดรวมกัน แล้วอันไหนจะปรากฏ เวลาที่สติระลึกก็จะระลึกเพียงลักษณะเดียว ไม่ใช่ว่าไปรู้ทั้งอุทธัจจะด้วย หรืออหิริกะด้วยหรือ อโนตตัปปะด้วย โลภะด้วย ในขณะเดียวกัน แล้วแต่สติ

    ผู้ฟัง สติจะต้องระลึกแต่ละอย่างไปเลย เกิดรวมกันไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดรวมกัน แต่เวลาที่สติระลึก จะระลึกลักษณะสภาพธรรมทีละอย่าง

    ผู้ฟัง อันนี้คงจะ พวกเราไม่ทราบว่าท่านผู้ใดระลึกได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ ก็เวลานี้ สีทางตากำลังปรากฏ แล้วก็จักขุวิญญาณ ไม่ได้เกิดเฉพาะจิต มีผัสสเจตสิก มีเจตนาเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก แล้วใครรู้เจตสิกอะไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ไม่ใช่มีแต่จิต แต่ว่ามีขันธ์ นามขันธ์ ๔ ทั้ง ๔ ขันธ์ เวทนาก็มี กำลังเห็น สัญญาก็มี เจตนาก็มี เอกัคคตา ชีวิตตินทรีย์ มนสิการ มีเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ แต่เวลาที่มีการระลึกได้ จะรู้ในสภาพรู้ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต ไม่ใช่ผัสสเจตสิก ไม่ใช่เวทนาเจตสิก ไม่ใช่สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดก็จะรู้ทีละอย่าง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วก็มีโลภะ มีอหิริกะ มีอโนตตัปปะ มีอุทธัจจะ แล้วก็จะไปรู้อุทธัจจะ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกว่า อกุศลจิตประเภทไหนที่พอจะระลึกได้รู้ได้ในวันหนึ่งก่อน โทสมูลจิต หรือโลภมูลจิต แล้วต่อไป ถึงจะรู้ว่าเวลาที่ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต เป็นโมหมูลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดใน ๒ ประเภท

    ผู้ฟัง ความรู้สึกจริงๆ เราจะแปล ที่แล้วๆ เราก็แปลความหมาย อุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่าน ความไม่ตั้งมั่นอะไรอย่างนี้ พอเรารู้สึกเราไม่ตั้งมั่น เราฟุ้งซ่าน เราบอกว่า นี่อุทธัจจะแล้ว เรารู้แล้ว อุทธัจจะ อย่างนี้คงจะไม่ถูก เพราะว่าเป็นการคาดคะเน หรือเดาเอาความรู้สึกเท่านั้นเอง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เราเรียนเพื่อที่จะให้รู้ว่าเรายังไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเรารู้แล้ว เรียนเพื่อให้รู้ว่าเรารู้ชื่อของธรรม รู้เรื่องราวของธรรม แต่ว่าไม่ใช่รู้จักตัวธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง คือมันอุเบกขา มันเฉย รู้สึกเหมือนกับว่ามันไม่มีความรู้สึก แต่ถ้าเผื่อมันเกิดวิจิกิจฉาขึ้นมานิดหนึ่ง โลภะก็ไม่ใช่ สังเกตจิต เราก็ไม่ติดข้อง เราก็ไม่ได้โกรธ แต่เราเกิดสงสัย นั่นแหละคือตัวโมหะ อุเบกขาสหคตังวิจิกิจฉาสัมปยุตตัง คือโมหมูลจิตที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ทีนี้ต่อไปอุทธัจจะ เราปรารภต่อไปอีกว่า โลภะก็ไม่ใช่ เราไม่ติดข้อง โทสะก็ไม่ใช่ มันไม่หยาบกร้าน จะเป็นโมหะ มันอุเบกขานะ แต่เราไม่เกิดความสงสัย ตัวสุดท้ายก็คือ อุทธัจจะ ถูกไหมคะ ท่านอาจารย์คะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่นี่รู้ทีหลัง เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดแล้ว แล้วก็ดับไปแล้วนาน

    ผู้ฟัง เราตามรู้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีจิตเห็นคั่น มีจิตที่กำลังนึกถึงเรื่องราวคั่น

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า เราต้องเริ่มจากการเข้าใจเรื่องของธรรม แล้วก็เราก็ต้องเริ่มจากการพิจารณา คือ นึกได้ ไตร่ตรองอย่างที่ว่า จนกว่าสติระลึกทันทีที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เวลาที่สติเกิดระลึกทันทีที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีการเจาะจง เช่น เรารู้โลภะแล้ว โทสะเราก็รู้แล้ว ต่อไปนี้เราน่าจะมาสังเกตรู้โมหะ แล้วก็จะรู้ลักษณะของโมหมูลจิตที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท นั่นไม่ใช่การที่จะรู้ว่า สติปัฏฐานเป็นอนัตตา แล้วก็ในขั้นต้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเอาชื่อไปใส่ แต่เวลานี้ความไม่แจ่มแจ้งของเรา อยู่ที่เรายังไม่รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกัน แยกกันโดยเด็ดขาดของนามธรรม และรูปธรรม โดยชื่อ ไม่มีใครสงสัยเลย รูปธรรม ยกไว้ว่าทุกคนเข้าใจดีว่าไม่ใช่สภาพรู้ แข็งมีลักษณะที่แข็ง ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าใครกำลังกระทบสัมผัส เสียงก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางหู เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นเรื่องของรูปธรรมก็เห็นว่าต้องต่างกับนามธรรม แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้น แล้วเรามีความรู้ขั้นการศึกษาจริงว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เหมือนกับเราเข้าใจเรื่องราว หรือตัวอักษร แต่ว่าลักษณะแท้ๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นเพียงธาตุ หรือลักษณะ หรืออาการรู้ ซึ่งขณะนี้เป็นการที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ในขณะที่ฟัง เพราะเหตุว่ามีนามธรรม แล้วทางตาที่กำลังเห็น ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเวลาที่ได้ยินเสียง เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นกว่าความเข้าใจจะชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมแต่ละอย่างซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละอย่าง โดยที่เราจะไม่มีการที่เราจะไปเจาะจงเลยว่า จะรู้โลภมูลจิต แล้วโทสมูลจิต แล้วโมหมูลจิต แต่ขอให้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ก่อนเท่านั้น ปัญญาต้องค่อยๆ เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง อันนี้ที่เล่าให้อาจารย์ฟัง เป็นคล้ายๆ ว่า เป็นหลักการ อย่างว่าในขณะซึ่งเขาเกิด เราอาจจะไม่รู้ แต่เราตามรู้ เหมือนกับบางครั้ง แม้โลภะเกิด บางครั้งในขณะที่เกิด เราก็ไม่รู้ แต่เราตามรู้ได้ เมื่อกี้เราเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เราก็เรียกชื่อด้วย

    ผู้ฟัง มันก็ยังไม่สำเร็จ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ เรียกว่าโลภะ

    ผู้ฟัง มันเรียกว่าเตี้ยๆ ไปก่อน

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้าจะไม่ให้เตี้ย ก็คือรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ต้องไปสนใจว่า เป็นโลภะ หรือโทสะ หรืออะไรเลย ขอให้รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่เราเพราะว่าเป็นนามธรรม ซึ่งนามธรรมมีลักษณะต่างๆ กัน แม้แต่ความต้องการหรือโลภะก็เป็นลักษณะหนึ่ง โทสะ ความขุ่นใจ ความไม่ต้องการอารมณ์นั้นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งลักษณะของนามธรรมมีทั้งวัน ไม่ขาดเลย แล้วก็เวลาเรียนเรื่องนามธรรมประเภทใดก็มีนามธรรมประเภทนั้นในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ไม่คุ้นเคยกับการที่จะรู้ว่า นั่นเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า การที่จะรู้จักตัวธรรม ไม่ใช่รู้จักเพียงเรื่อง หรือชื่อของธรรม ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิดเท่านั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ยังคงรู้จักเรื่อง หรือรู้จักชื่อของธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่ในขณะซึ่งเรากำลังคุยกัน สนทนากัน มันก็อดที่จะเอาชื่อมาจับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่มีใครห้าม แต่เราเองเป็นคนทราบว่ามีปัญญาหลายขั้น


    หมายเลข 9069
    21 ส.ค. 2567